รีเซต

"วิกฤตลุ่มน้ำโขง" กระทบระบบนิเวศ-สะเทือนถึงท้องถิ่น ผ่านมุมมอง "ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ"

"วิกฤตลุ่มน้ำโขง" กระทบระบบนิเวศ-สะเทือนถึงท้องถิ่น ผ่านมุมมอง "ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ"
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2566 ( 18:33 )
178

ทีมข่าว TNNonline ได้พูดคุยปัญหานี้ กับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.มหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขง ถึงสาเหตุตลิ่งพัง และระบบนิเวศโดยรวม ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตริมน้ำโขง




ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.มหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขง

 




“ตลิ่งพัง” = สูญเสียที่ดิน 4 วัน กว่า 10 ไร่ 



ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้เผยถึงปัญหาของแม่น้ำโขง ที่ถูกล่ามโซ่ไว้มาอย่า่งยาวนาน คือ การปล่อยน้ำลงมาจาก “เขื่อน” อย่างรวดเร็ว จนเกิดการพังถลายของดินริมตลิ่ง โดยจุดที่น่าเป็นห่วง คือ  บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ต้องสูญเสียที่ดิน ที่ทำกิน โดยรวมแล้ว ประมาณกว่า 10 ไร่ 



การพังของตลิ่งริมโขงที่ ตำบลบ้านม่วงนอกจากเกิดจากการปล่อยน้ำของเขื่อนที่ขึ้นๆ ลงๆ ผิดธรรมชาติแล้ว ยังมาจากการที่ "ป่าไคร้" ที่เป็นปราการชะลอน้ำและบังคับให้น้ำไหลไปตามร่องน้ำลึก ถูกทำลาย ไม่ต่ำกว่ำร้อยละ 50 ทำให้น้ำไหลเปลี่ยนทิศทางและกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้เข้าปะทะตลิ่ง ทำให้ตลิ่งพังหนัก



"ป่าไคร้" ปราการด่านสำคัญ ถูกทำลาย 



ดร.ไชยณรงค์  ระบุเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่จุดที่ตลิ่งกำลังขึ้น ไปตามลำน้ำโขง เคยมีป่าไคร้ยาวถึง 3 กิโลเมตร และกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร แต่หลังจากเขื่อนไซยะบุรี เริ่มทดลองกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าในฤดูฝนปี 2562 



ป่าไคร้ ภาพประกอบจาก facebook Chainarong Setthachua 

 

 




ป่าไคร้ ภาพประกอบจาก facebook Chainarong Setthachua 

 



น้ำโขงในฤดูฝนแห้งราวกับฤดูแล้ง และทำให้ "ป่าไคร้" ที่ปกติตามธรรมชาติต้องถูกน้ำท่วม ต้องยืนต้นแห้งตายมากกว่า 90% การหายไปของป่าไคร้ เมื่อบวกกับน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนขึ้นเร็ว ลงเร็ว ตลิ่งที่ "บ้านห้วยค้อ" ก็ยิ่งพังหนัก กลายเป็นผาชันและดินไม่เสถียร 



เมื่อ "น้ำ" ไม่ลดตามธรรมชาติ สาเหตุ "ตลิ่งพัง" 


ดร.ไชยณรงค์  ระบุถึง สาเหตุที่ตลิ่งพังมา หลักๆ มาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน เนื่องจากเขื่อนได้ควบคุมการไหลของน้ำ 


ก่อนที่จะมีเขื่อน น้ำในแม่น้ำโขงจะค่อยๆ ขึ้น ในช่วงต้นฤดูฝน และค่อยๆ ลดในปลายฤดูฝน แต่เมื่อมีเขื่อน เขื่อนจะปล่อยน้ำเมื่อต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า และหยุดปล่อยน้ำเมื่อไม่ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า 


ทำให้น้ำโขงขึ้นเร็ว ลงเร็ว ตามการปล่อยน้ำของเขื่อน ทำให้น้ำขึ้นลงไม่เหมือนธรรมชาติ และทำให้ดินปรับสภาพไม่ทัน เมื่อน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว น้ำก็จะดึงดินลงไปในแม่น้ำด้วย


การกักเก็บน้ำของเขื่อนยังทำให้ตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อน ในหน้าแล้ง น้ำท้ายเขื่อนจึงใสเหมือนกระจก ซึ่งเรียกว่า "ภาวะน้ำหิวตะกอน" (hungry water) เพราะในน้ำไม่มีตะกอน น้ำที่หิวตะกอนนี้จึงดึงเอาดินริมตลิ่งลงไปในน้ำ ทำให้ตลิ่งพังและไปทับถมบริเวณอื่นแทน




กระทบ "ระบบนิเวศ" สั่นสะเทือนถึง "ชุมชน"




น้ำขึ้น-ลง ตามปริมาณความต้องการในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากจะส่งผลทำให้ "ตลิ่ง" พังทลายแล้ว ยังส่งผลต่อระบบนิเวศ

 หลายด้าน โดยเฉพาะวงจรชีวิตสัตว์น้ำ และอาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของ "คนริมโขง" 


"การที่น้ำขึ้น-น้ำลง" ผิดธรรมชาติ จะทำให้ปลาหลงฤดู คิดว่าเป็นฤดูน้ำหลาก ปลาจะว่ายน้ำอพยพไปวางไข่ แต่ปลาจะไม่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ เพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่พร้อมสำหรับการวางไข่ อนาคตอาจทำให้ปลาในแม่น้ำโขงลดลง  ดร.ไชยณรงค์ ระบุ 


"กระทบอาชีพประมงของชาวบ้าน" ผลพวงจากการพังทลายของตลิ่ง ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดิน และที่ทำกินหลายไร่  




อาชีพหลัก ของชาวริมโขง คือ "ประมง" การพังของตลิ่ง จึงส่งผลต่อการทำประมงโดยตรง เนื่องจากปริมาณปลาที่ลดลงแล้ว และไร้ที่ทำกิน   



คนรวย (ที่ดิน) กลายเป็น "คนจน" 


"เมื่อครั้งตลิ่งพัง เมื่อปี 2545-2546 ชาวบ้านที่เคยมีที่ดิน ริมฝั่งโขง กลายเป็นชาวบ้านที่ไร้ ที่ดินทำกิน ถ้าเช่าเขาทำก็ต้องไปเป็นแรงงาน กลายเป็น คน ยากจนที่สุดของหมู่บ้าน" 




"อาชีพประมง" หากล่มสลาย จะถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง





"ภาคี" ต้องผลักดัน "รัฐ" ต้องมองเห็น 


"สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ภาคี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยจะต้องคุยปัญหานี้ ใยระดับภูมิภาค เพื่อที่จะให้การปล่อยน้ำ ไม่สร้างความเสียต่อระบบนิเวศริมโขง" ดร.ไชยณรงค์ กล่าว 


นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ ยังบอกอีกว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเอง ก็ต้องเข้ามาดูแล และจริงจังในจุดนี้ด้วย


สำหรับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดนการทำพนังกั้นน้ำ ดร.ไชยณรงค์ มองว่า ในระยะยาว ไม่สามารถแก้ปัญหาตลิ่งพังได้ เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณมหาศาล สุดท้ายก็พังลงอีก หนำซ้ำ! ยังทำลายระบบนิเวศริมโขงอย่างสาหัส 



อย่างไรก็ตาม เรื่องราวปัญหาของ "แม่น้ำโขง" ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนในพื้นที่ และการจะแก้ปัญหาให้จบในคราวเดียวนั่น เป็นเรื่องยาก!  หากแต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐริมโขงด้วย




เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง 

ภาพ : ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง