รีเซต

SCG ผนึก Microsoft เข้ายุคองค์กรดิจิทัล เพิ่มความพอใจของลูกค้าด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคต

SCG ผนึก Microsoft เข้ายุคองค์กรดิจิทัล เพิ่มความพอใจของลูกค้าด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคต
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2565 ( 22:02 )
206
SCG ผนึก Microsoft เข้ายุคองค์กรดิจิทัล เพิ่มความพอใจของลูกค้าด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคต

เอสซีจี (SCG) ได้เติบโตจากบริษัทซีเมนต์และผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโลจิสติกส์ ซึ่งการเติบโตที่ผ่านมาก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับไมโครซอฟต์ (Microsoft) มาโดยตลอด และในวันที่ 7 มิถุนายน ทั้งสองบริษัทก็ผนึกกำลังให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2022 นี้ เพื่อผลักดันแนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่อนาคต (Building New Frontiers of Innovation)”


รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอสซีจี เปิดเผยว่าความร่วมมือนี้เป็นการยกระดับการทำงานของบริษัทในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ก็มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำให้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีคุณภาพที่ดีและลดต้นทุนให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการจับมืออย่างเป็นทางการครั้งนี้จะช่วยส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าของบริษัทได้อย่างทันท่วงที


ความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทที่สำคัญก่อนหน้านี้ก็คือบอนไซ (Bonsai) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิตผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของระบบ (Machine Learning) รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellience: AI) จัดสรรทรัพยากรและยกระดับคุณภาพบุคลากร


อันเดรีย เดลลา มัตเตอา (Andrea Della Mattea) ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไมโครซอฟต์ (President of Microsoft Asia Pacific) มองว่าพันธกิจหลักของไมโครซอฟท์คือการสนับสนุนทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ให้ได้สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งการร่วมมือกับเอสซีจีก็ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน


ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไมโครซอฟต์ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าบริษัทจะเข้ามาสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเอสซีจีใน 3 ด้าน เป็นหลัก ได้แก่ ตรงใจ ฉับไว ล้ำเทรนด์


ความต้องการของลูกค้าเอสซีจี และเอสซีจี โอม (SCG Home) แต่ละคนจะถูกทำให้ “ตรงใจ” ด้วยการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ตรงกับความต้องการโดยเฉพาะได้


โครงการวิทยาเขตการเรียนรู้กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing Campus Solution) เป็นตัวอย่างของการเสริมความ “ฉับไว” ให้กับเอสซีจี ด้วยการใช้ AI และเมตาเวิร์ส (Metaverse) ในการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร ทั้งการใช้ในการฝึกอบรมทักษะด้านการทำงาน การสร้างบุคลกรในการออกแบบเครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเรียกว่า Low Code


ในขณะที่ “ล้ำเทรนด์” เป็นเป้าหมายในการนำเมตาเวิร์ส (Metaverse) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) มาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น ย่นระยะเวลาการวิเคราะห์และวิจัย


คุณธนวัฒน์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ TNN Tech อีกด้วยว่าเอสซีจีอยู่ในระหว่างการนำควอนตัมคอมพิวเตอร์มาใช้ในกระบวนการวิจัย รวมถึงอยู่ในช่วงทดลองการสร้างแบบจำลองสำหรับการพัฒนาและการคำนวณโครงสร้างเพื่อยกขีดความสามารถของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ดีขึ้นในอนาคต


ที่มาข้อมูล SCG

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง