ครั้งแรกของโลก! ออสเตรเลียเล็งออกกม. บีบยักษ์ใหญ่เทคโนฯ จ่ายเงินซื้อข่าว
แคนเบอร์รา, 9 ธ.ค. (ซินหัว) -- วันพุธ (9 ธ.ค.) จอช ไฟรเดนเบิร์ก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย นำเสนอกฎหมายชุดใหม่ต่อรัฐสภา ซึ่งจะถือเป็น "กฎหมายชุดแรกของโลก" ที่จะบังคับให้ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กจ่ายเงินค่าเผยแพร่ข่าวสารในออสเตรเลีย ซึ่งจะถือเป็นการช่วยเหลือสื่อออสเตรเลียที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก
ไฟรเดนเบิร์กระบุว่ากฎหมายมาตราใหม่นี้เป็นผลจากการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ดำเนินการตรวจสอบแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี เพื่อรับรองว่า "กฎระเบียบบนโลกดิจิทัลสอดคล้องกับกฎระเบียบบนโลกความเป็นจริง"การตรวจสอบพบว่าจากค่าซื้อโฆษณาออนไลน์ทุก 100 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2,236 บาท) กูเกิลจะได้รับ 53 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1,185 บาท) ส่วนเฟซบุ๊กได้รับ 28 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 626 บาท) และที่เหลืออีก 19 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 425 บาท) จึงเป็นของผู้อื่น
ไฟรเดนเบิร์กระบุว่าธุรกิจสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมที่สรรสร้างเนื้อหาการรายงานข่าวขึ้นใหม่ "ไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างยุติธรรม""นี่เป็นการปฏิรูปขนานใหญ่ครั้งแรกของโลก ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย" ไฟรเดนเบิร์กกล่าวระหว่างงานแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (8 ธ.ค)"กฎหมายของเรา ซึ่งจะยื่นต่อรัฐสภาในวันพรุ่งนี้และส่งต่อให้คณะกรรมการวุฒิสภาพิจารณาต่อไป จะทำให้มั่นใจว่ากฎระเบียบบนโลกดิจิทัลสอดคล้องกับกฎระเบียบบนโลกความเป็นจริง"กฎหมายใหม่นี้กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเจรจากับบริษัทสื่อมวลชนเพื่อตั้งราคาของเนื้อหาข่าวสาร
โดยจะเริ่มจากเฟซบุ๊กและกูเกิลก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้การตัดสินจากอนุญาโตตุลาการ ผู้ที่เข้ามาช่วยตัดสินจะเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่จะมอบเงินให้ฝ่ายเดียวเท่านั้น"แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่นกูเกิลและเฟซบุ๊ก จะต้องเป็นฝ่ายมอบเงินให้ธุรกิจสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมเท่านั้น และเราหวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยสร้างโลกสื่อออสเตรเลียที่ยั่งยืนและใช้การได้จริง" ไฟรเดนเบิร์กให้สัมภาษณ์กับซันไรซ์ รายการโทรทัศน์ช่วงเช้าของออสเตรเลีย เมื่อวันพุธ (9 พ.ย.)