รีเซต

ความหวังใหม่? จีนพบวิธีชะลอแก่ด้วย ‘Hydrogen Therapy’ ระดับนาโน

ความหวังใหม่? จีนพบวิธีชะลอแก่ด้วย ‘Hydrogen Therapy’ ระดับนาโน
TNN ช่อง16
22 ธันวาคม 2566 ( 11:50 )
54
ความหวังใหม่? จีนพบวิธีชะลอแก่ด้วย ‘Hydrogen Therapy’ ระดับนาโน

คณะนักวิจัยชาวจีนไขความลับของการชะลอการแก่ชรา ผ่านการศึกษาการบำบัดด้วยไฮโดรเจน (Hydrogen therapy) ผสานนวัตกรรมการปลูกถ่ายเทคโนโลยีระดับนาโนเพื่อส่งไฮโดรเจนเข้าไปในร่างกายอย่างตรงจุด ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความชราและโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของเซลล์ เช่น โรคอัลไซเมอร์


การแก่ชราและโรคบางชนิดมักเชื่อมโยงกับกระบวนการที่เรียกว่า “ความเสื่อมสภาพของเซลล์” (Cellular senescence) ซึ่งคือการที่เซลล์หยุดการแบ่งตัวและปล่อยสารที่เกี่ยวข้องกับอักเสบออกมา สภาวะนี้จะทำให้ร่างกายมีสภาพแวดล้อมที่ขัดขวางการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เร่งความชรา และอาจนําไปสู่ปัญหากระดูกในผู้สูงอายุ


อย่างไรก็ตาม ยาสำหรับการชะลอความชราของเซลล์ในตอนนี้ยังคงมีข้อจํากัดต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงด้านประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลข้างเคียง ขณะที่ในปัจจุบันพบว่า โมเลกุลไฮโดรเจน (H2) มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบที่ปลอดภัยและครอบคลุม เนื่องจากความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย


การวิจัยนี้ซึ่งเป็นการร่วมกันศึกษานำโดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียว ถง (Shanghai Jiao Tong University) ต่อยอดข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยการสร้างโครงข่าย (Scaffold) ที่สามารถปล่อยไฮโดรเจน ปริมาณสูงถึง 911 mL/g นานถึง 1 สัปดาห์ ด้วยการพ่นด้วยไฟฟ้า (Electrospraying) อนุภาคนาโนของแคลเซียมซิลิไซด์ (CaSi2) ที่ถูกหุ้มโดยพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (Polyhydroxyalkanoates, PHAs) ลงบนแก้วทางชีวภาพที่มีรูพรุนขนาด 2-50 นาโนเมตร


ด้านคณะทำงานได้ทําการทดลองขั้นพรีคลินิกด้วยการปลูกถ่ายวัถตุดังกล่าวกับหนูทดลองที่มีอายุมาก โดยวัตถุปลูกถ่ายไฮโดรเจนซึ่งทําหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการซ่อมแซมกระดูก รวมถึงยังแสดงผลลัพธ์ในการฟื้นฟูเซลล์ 


แม้จะมีขนาดเล็กแต่มันกลับทรงพลัง เพราะสามารถนำเข้าไฮโดรเจนสู่ร่างกายได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าวิธีการทั่วไป เช่น การดื่มน้ําไฮโดรเจนเข้มข้นหรือการสูดดมก๊าซไฮโดรเจน ถึง 40,000 เท่า


การค้นพบนี้ถือเป็นแนวทางใหม่เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์ ลดการอักเสบ และทําให้เซลล์ทํางานได้ดีขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดความหวังในการต่อสู้กับปัญหาที่มาพร้อมกับความชราและเป็นก้าวสําคัญในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวของมนุษย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งการศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications. และเผยแพร่ในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


ที่มาของข้อมูล

interestingengineering.com

nature.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง