นักวิทย์ค้นพบ “แนวปะการัง” ใต้ทะเลออลซี่ สูงกว่าตึกเอมไพร์สเตท
นักวิทย์ค้นพบ “แนวปะการัง” - วันที่ 28 ต.ค. บีบีซี รายงานการค้นพบแนวปะการังขนาดมหึมาบนก้นมหาสมุทร ที่แยกจากพืดหินปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ออกไปทางเหนือ นอกชายฝั่งเคปยอร์ก รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในรอบ 120 ปี
แนวปะการังมีลักษณะเหมือนใบมีด ความกว้าง 1.5 กิโลเมตร ความลึกตื้นสุดใต้ผิวน้ำทะเลเพียง 40 เมตร แต่ความสูงทั้งหมด 500 เมตร แซงความสูงของ เอ็มไพร์สเตทบิลดิง ตึกระฟ้าของนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา และ ตึกแฝดปิโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย
คณะนักวิทยาศาสตร์จาก สถาบันชมิดท์โอเชียน องค์การไม่แสวงกำไรในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ล่องเรือวิจัย ฟัลคอร์ (Falkor) ใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำ ซูบัสเตียน (SuBastian) ซึ่งไลฟ์สตรีมวิดีโอการสำรวจและค้นพบแนวปะการังดังกล่าว เผยแพร่ทางช่องยูทูบ นอกจากนี้ คณะนักวิจัยทำแผนที่สามมิติก้นทะเลในบริเวณดังกล่าวด้วย
ดร.โชติกา วีรมณี กรรมการบริหารสถาบันชมิดท์โอเขียน กล่าวว่า การค้นพบแนวปะการังใหม่จะเป็นการไขความลึกลับว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟอยู่ห่างแนวชายฝั่งของเราอย่างไร
"การรวบรวมข้อมูลแผนที่และมโนภาพใต้น้ำทรงพลังจะนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจแนวปะการังใหม่นี้ และบทบาทของแนวปะการังดังกล่าวภายในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งเป็นเขตมรดกโลก" ดร.วีรมณีกล่าว
ด้าน เวนดี ชมิดท์ ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันชมิดท์โอเชียน ระบุว่า การค้นพบคาดไม่ถึงนี้ยืนยันว่าเราจะค้นพบแนวปะการังที่ไม่เคยรู้จัก และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ ในมหาสมุทรของเราอีก
"เรามีความรู้อย่างจำกัดเกี่ยวกับสรรพสิ่งในมหาสมุทร แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นแขนขาในมหาสมุทรลึก เราจึงสามารถสำรวจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ภาพมหาสมุทรใหม่กำลังเปิดให้เราเห็นระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบที่อยู่ร่วมกับเราบนโลกใบนี้" ชมิดท์กล่าว
การค้นพบแนวปะการังใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งภารกิจ 12 เดือน ของคณะนักวิจัยสถาบันชมิดท์โอเชียน ที่ล่องเรือสำรวจมหาสมุทรรอบออสเตรเลีย ซึ่งค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ 30 สายพันธุ์
รวมถึง ไซฟอรโนฟอร์ (siphonophore) สัตว์ทะเลลึกตัวยาวที่สุดในโลก 45 เมตร ในหุบเขาลึกนอกชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตกเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ อยู่ในเครือเดียวกับแมงกะพรุนและปะการัง หลายชนิดมีตัวเรืองแสงสีเขียวหรือสีฟ้าเพื่อล่อเหยื่อ
ส่วนในเดือนสิงหาคมเป็นการค้นพบฟองน้ำและปะการังดำแต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ และแมงป่องหายากครั้งแรกของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ เกรตแบร์ริเออร์รีฟเป็นพืดหินปะการังขนาดใหญ่สุดของโลกด้วยความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร เป็นถิ่นอาศัยของปลามากกว่า 1,500 สายพันธุ์ใหม่ ปะการังแข็งอีก 411 สายพันธุ์ และสิ่งมีชีวิตหลายสิบสายพันธุ์
เกรตแบร์ริเออร์รีฟได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลกเมื่อปี 2524 ในฐานะทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และธรรมชาติมหาศาล ทว่าหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายอย่างมากมายจากน้ำทะเลอุ่นขึ้น ซึ่งกัดเซาะปะการัง ทำให้สัตว์ทะเลกระจายตัวจากถิ่นอาศัย และเร่งการเติบโตสาหร่ายและสารปนเปื้อนอื่นๆ
ก่อนหน้าเดือนเดียวกันนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์พบว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟสูญเสียแนวปะการังมากกว่าครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2538 เนื่องด้วยทะเลอุ่นขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ