รีเซต

รู้จักช่องทางธรรมชาติ ต่างด้าวหนี(โควิด)เข้าเมืองไทย

รู้จักช่องทางธรรมชาติ ต่างด้าวหนี(โควิด)เข้าเมืองไทย
TrueID
31 สิงหาคม 2563 ( 16:45 )
5K
รู้จักช่องทางธรรมชาติ ต่างด้าวหนี(โควิด)เข้าเมืองไทย

     ยอดการรายงานผู้ป่วยรายโควิด-19 รายใหม่ ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เริ่มกลับมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์กลางการระบาดในรัฐยะไข่ กระทั่งทางรัฐบาลเมียนมาร์ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เกิดขึ้น กำลังสร้างความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะ 10 จังหวัดพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทาง

 

 

     

      ขณะเดียวกันหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในรับการสื่อสารจากหน่วยเหนือของแต่ละสังกัดจองตนเองว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพิ่มความเข้มในทุกมาตรการอย่างเข้มงวดรัดกุมในทุกจุดพื้นที่

 

เนื่องจากเกรงเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จะเกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นในระยะของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในเมียนมาร์

 

     อย่างไรก็ดี  พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ผบ.ตร.กำชับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับชายแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาทั้ง 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ประสานร่วมกับ ทหาร ปกครอง กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของการป้องกันโรคตามคำสั่ง ศบค.อย่างเคร่งครัด

 

สำหรับ การเข้าประเทศตามด่านชายแดนไทย เมียนมาร์ นั้น สามารถดำเนินการเข้า-ออก ผ่านจุดข้าออกประเทศใน 20 จุดได้ดังนี้

 

  • จุดผ่านแดนถาวร จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย จ.เชียงราย 2 จุด , จ.ตาก 1จุด, จ.กาญจนบุรี 1 จุด และ จ.ระนอง 1 จุด
  • จุดผ่านแดนชั่วคราว จำนวน 1 แห่ง อยู่ใน จ.กาญจนบุรี
  • จุดผ่อนปรน จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย จ.เชียงราย 5 จุด, เชียงใหม่ 2 จุด, แม่ฮ่องสอน  4 จุด, กาญจนบุรี 1 จุด และ ประจวบคีรีขันธ์

 

     สำหรับ 20 จุดผ่านแดนนี้ คือ ช่องทางเข้าออกที่ถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังกังวลอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ คือ การลักลอบเข้าประเทศไทย ตามช่องทางธรรชาติตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ตามเส้นแบ่งเขตแดนไทย-เมียนมาณ์ ที่มีความยาวกว่า 2,041 กิโลเมตร

 

 

ช่องทางธรรมชาติ เข้า-ออก ประเทศคือ อะไร

 

            ช่องทางธรรมชาติ (Natural Border Path) หมายถึง ช่องทางบริเวณชายแดนเพื่อการเดินทางเข้า-ออกของประชาชนที่เดินทางไปมาหาสู่กัน ซึ่งไม่มีการประกาศเป็นจุดผ่านแดนใดๆ หรืออาจเคยประกาศเป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวหรือจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าที่ประกาศยกเลิกไปแล้ว แต่ยังคงมีการเดินทางเข้า-ออกของประชาชนอยู่ (สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่/สศช., ตุลาคม 2559.)

 

รูปแบบวิธีการเข้าออกประเทศตามช่องทางธรรมชาติ

 

            ประการแรก ต้องไม่ลืมว่า ชายแดนทั้งสองประเทศ “ไม่มีรั้วกั้น” เพราะฉะนั้นการเข้า-ออกประเทศ สามารถเดินทางเข้าออกได้ในทุกช่องทาง ทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเส้นทางจะไปได้ง่ายดาย เนื่องจากบางสภาพพื้นที่เป็นป่ารกชัฏ ไม่มีถนนเข้าในพื้นที่ หรือบางพื้นที่แม้จะมีเส้นทางรถยนต์ แต่ก็เป็นแบบถนนในป่า หรือถนนดิน อีกทั้งทุกขุดเข้าออก หรือทุกจุดที่สัญจรไปมาได้ จะมี "ทหารพราน" ออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง การลดตระเวนแต่ละครั้งๆของแต่ละชุด จะใช้เวลาประมาณ​1 สัปดาห์ ใช้วิธีการเดินเท้าเข้าไปในป่า พักค้างแรมในป่า ดังนั้นหากมีกลุ่มคนที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองตามเส้นทางธรรมชาติ โอกาสที่จะเจอกองกำลังทหารพรานที่ออกลาดตระเวน จึงเป็นไปได้สูง

            นอกจากนี้ หากกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจุดไฟในป่าเพื่อสร้างความอบอุ่น หรือ ทำอาหาร ควันไฟก็จะเป็นสัญลักษณ์ทำให้เห็นได้ว่ามีใครอยู่ในพื้นที่การลดตระเวนอยู่บ้าง การบุกเข้าตรวจค้นจับกุมจึงทำได้ทันที ยิ่งในข้อเท็จจริง ของคนเดินป่าที่บอกว่า “แค่แสงไฟที่ปลายมวนบุหรี่ ก็เห็นกันไกลข้ามยอดเขายามอยู่ในป่า” จึงยากที่จะซ่อนตัวและเดินป่าข้ามชายแดน แต่ก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้ โอกาสที่จะไม่เจอชุดลาดตระเวนก็มีสูง เพราะทหารพรานไม่ได้มีกำลังลาดตระเวนได้ครอบคลุมตลอดแนวชายแดน

           

           

           ประการที่สอง การลักลอบเข้าเมืองโดยมีคนจัดตั้ง หรือ ทำเป็นขบวนการ วิธีการเหล่านี้ ต้องอาศัยคนนำทางที่มีประสบการณ์ทั้งเส้นทาง และการเคลียร์ทาง วิธีลักษณะนี้ จะต้องมีคนนำทางทั้งสองฝั่ง มีจุดนัดพบในป่า มีจุดพักค้างคืน และมีจุดรับตัวเข้าประเทศ รวมทั้งต้องรู้ข้อมูลวัน เวลา ของชุดลาดตระเวนในพื้นที่ว่าเข้าปฏิบัติงานช่วยเวลาไหนอย่างไร

            วิธีการลักษณะนี้มีทั้งการเดินเท้า หรือ การลักลอบมากับรถขนสินค้าเกษตร หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ต่างๆ ในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก หรือหลายจุดตรวจความมั่นคงตามด่านชายแดน ถ้าสังเกตเห็นจะพบว่าเจ้าหน้าที่ประจำจุด จะมีเหล็กปลายแหลมคล้ายเหล็กเส้นขนาดเล็ก จะคอยเอาไว้สุ่มทางในรถขนผักเพื่อดูว่ามีการแอบซ่อนตัวมาอยู่ในกองผักบนกระบะบรรทุกหรือไม่ รวมทั้งมีการใช้สุนัขตำรวจดมกลิ่นในบางจุดตรวจอีกด้วย

            ส่วนความผิด กรณีที่มีคนนำพาหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งอาจได้ค่าหัวคิว หัวละ 1,000-2,000 บาท จะมีโทษ “ร่วมกัน รู้ว่าคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม”

            ส่วนชาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง จะมีความผิด “เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคตามข้อกำหนดในมาตรา 9 ฉบับที่1 ข้อ5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ”

           

            ประการที่สาม การเข้าเมืองแบบผู้อพยพ หรือ ผู้ลี้ภัย โดยจะมาเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ โดยเป็นการหลบหนี้จากความเดือดร้อน หรือปัญหาความอดอยาก ปัญหาภัยสงคราม ไปสู่ประเทศที่ปลอดภัย เพื่อเข้ามาขออาศัยหลบภัย กรณีดังกล่าว ถ้าเป็นความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว จะเป็นเรื่องเชิงมนุษยธรรม ซึ่งหากมีการร้องขอไปยัง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ซึ่งได้เริ่มทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน ก็จะมีความช่วยเหลือเข้าไปในรูปแบบการตั้งค่ายผู้ลี้ภัย และเกิดการประสานงานกับรัฐบาลประเทศนั้นเพื่อการดูแลอย่าเป็นทางการ

            อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีผู้ลี้ภัยที่มาจากเมียนมาร์ ปัจจุบันยังมีทั้งลี้ภัยจากการสู้รบของชนกลุ่มน้อย มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยใน พื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี , ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 90,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) จำนวน 9 แห่งตามเขตชายแดนไทย-พม่า รวมถึงกรณี ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่เดินทางมาทางเรือและขอขึ้นฝั่งทางใต้ของประเทศไทยรอยต่อประเทศมาเลเซีย ก็เป็นอีกเส้นทางธรรมชาติทางทะเลที่ใช้เดินทางเข้าประเทศได้ด้วยเช่นกัน

 

 

มาตรการกักกันโรคเพื่อรับมือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

 

            ขณะเดียวกัน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการชะลอการนำแรงงานจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เข้ามาทำงานในขณะนี้ และไม่สนับสนุนการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อ โควิด 19 เข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ขอความร่วมมือประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชุมชน หากสงสัยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกัน แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และป้องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในชุมชน

 

เปิดประสบการณ์ที่แรก กักตัวใน ASQ โรงแรมหรูสู้โควิด19

กาญจน์-หัวหิน สั่งปิดโรงเรียน พบใกล้ชิดชาวเมียนมา หวั่นแพร่โควิด

 

            สำหรับประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด เคร่งครัดในมาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ที่ใช้บริการในแพลตฟอร์มไทยชนะ เพราะหากพบผู้ติดเชื้อจะง่ายต่อการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรค

 

 

ต่างด้าวหนีเข้าเมืองกักตัวที่ไหน

 

            หากจำกันได้ ในกรณีการใช้ ห้องกักตัวคนต่างชาติของ ตม. (Immigration Detention Center : IDC) ของด่าน ตม.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานว่า พบผู้ต้องกักชาวต่างชาติที่ศูนย์กักคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ไปเป็นจำนวน 42 คนเนื่องจากถูกกักตัวเอาไว้ในห้องกักตัว ซึ่งต่อมาหน่วยงานรัฐ ได้วางแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้กักตัว และสังเกตอาการของผู้ที่ถูกจับกุมจากการหลบหนีเข้าเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

            ส่วนคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคน ยังคงต้องถูกกักตัวอยู่ใน State Quarantine เป็นเวลา 14 วันเช่นเดิมที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ป็นอย่างดี จนได้รับคำชมจากทั่วโลกมาแล้ว

 

            ดังนั้น กรณีข้อกังวลเรื่องคนต่างด้าวจะหลบหนีเข้าประเทศไทยตามช่องทางธรรมชาติ จึงอาจไม่ต้องตื่นตระหนกกับกระแสข่าวจนเกินไป และขอเพียงทุกคนร่วมมือกัน “การ์ดอย่าตก” มาตรการต่างๆที่ร่วมมือปฏิบัติกันมา จะยังคงเป็นเครื่องมือป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้ดีต่อไป.

 

 

 

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay 

 

**********

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

>>> อัพเดทยอดล่าสุด ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก 31 สิงหาคม 63 เมียนมาร์ผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง