UN ทดลอง AI อวตาร หวังเล่าเรื่องผู้ลี้ภัย ซื้อใจสาธารณชน หรือลดคุณค่ามนุษย์?

สถาบันวิจัยของสหประชาชาติ (United Nations Research Institute) เปิดตัวการทดลองใช้อวตารที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI สองตัว สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นของผู้ลี้ภัย จุดประกายความหวังของผู้ลี้ภัยในการสร้างความเข้าใจ แก่สาธารณชน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ต่างประเทศ 404 Media รายงานว่าการทดลองนี้เป็นผลงานของนักศึกษาจาก ศูนย์วิจัยนโยบายของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (UNU-CPR) โดยได้สร้างอวตาร AI สองตัว คือ อมินา (Amina) หญิงสาวสมมติที่ลี้ภัยจากซูดาน และอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในชาด และ อับดัลลา (Abdalla) ทหารสมมติจากกองกำลังสนับสนุนอย่างรวดเร็ว (Rapid Support Forces) ในซูดาน โดยผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับอวตารเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์การทดลอง แม้ว่าขณะนี้บางส่วนอาจยังไม่สมบูรณ์
เอดูอาร์โด อัลเบรชต์ (Eduardo Albrecht) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและนักวิจัยอาวุโสที่ UNU-CPR ชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นเพียงการ ทดลองเล่นกับแนวคิด และยังไม่ได้ถูกเสนอให้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม เอกสารสรุปงานวิจัยนี้ได้เสนอแนะว่าอวตารดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในอนาคตเพื่อ นำเสนอข้อมูลให้ผู้บริจาคได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามการทดลองนี้ไม่ได้ไร้ซึ่งข้อโต้แย้ง รายงานระบุว่าผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปหลายคนแสดงความไม่พอใจต่อการโต้ตอบกับอวตาร โดยให้เหตุผลว่าผู้ลี้ภัย มีความสามารถมากพอที่จะพูดเพื่อตนเองได้ในชีวิตจริง ซึ่งคำวิจารณ์นี้เน้นย้ำถึงข้อกังวลที่สำคัญว่า การนำปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในลักษณะนี้อาจลดทอนความสำคัญของประสบการณ์และเสียงที่แท้จริงของผู้ลี้ภัย
จากความคิดเห็นของ TNN Tech เล็งเห็นว่าการทดลองปัญญาประดิษฐ์ AI อวตารนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นที่ซับซ้อน แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบทางจริยธรรม และการรักษาสิทธิในการแสดงออกของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
