รีเซต

จากผีน้อยเกาหลี ถึงการยื่นขอลี้ภัยในญี่ปุ่น เมื่อคนไทยยื่นขอลี้ภัยเพิ่มถึง 11 เท่า

จากผีน้อยเกาหลี ถึงการยื่นขอลี้ภัยในญี่ปุ่น เมื่อคนไทยยื่นขอลี้ภัยเพิ่มถึง 11 เท่า
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2568 ( 15:59 )
13

ปัญหาผีน้อยไทย หรือคนไทยที่ไปอยู่อาศัยต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ โดยหากพูดถึงผีน้อยนั้น เราคงนึกถึงผีน้อยเกาหลี ที่มีอยู่จำนวนมาก และได้ยินข่าวเป็นประจำ ถึงการโดนจับกุม ส่งตัวกลับ และจำนวนคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของเกาหลีใต้ที่มีคนไทยอยู่ในอันดับ 1 แต่ล่าสุด ทิศทางนี้ กลับเบนไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่นแทน 

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2024 มีคนไทยขอยื่นคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นถึง 2,128 คน ทำให้ชาวไทย ขึ้นเป็นอันดับสองของประเทศที่ขอสถานะผู้ลี้ภัยมากที่สุด รองจากประเทศศรีลังกาเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นจำนวนมากถึง 11 เท่า จาก 184 คน เมื่อปีก่อน และขึ้นมาถึง 10 อันดับ จากปีก่อนที่อันดับ 12 มาเป็นที่ 2 ด้วย 

ในปี 2024 จํานวนชาวต่างชาติที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นนั้น มีทั้งหมด 12,373 คน โดยชาวไทยคิดเป็น 17.2% ของทั้งหมด และแม้ว่าการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยโดยรวมจะลดลงถึง 10.5% จากปีก่อน แต่จำนวนชาวไทยกลับเพิ่มขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด 

สำนักข่าวญี่ปุ่น The Sankei Shinbun ยังรายงานว่า การที่ชาวไทยยื่นคำร้องขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากกระแสฟรีวีซ่าเข้าเมืองในประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถเข้ามาได้ 15 วัน โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ยังมีตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับฟรีวีซ่า ซึ่งติดในอันดับ 3  ที่ขอสถานะผู้ลี้ภัยมากที่สุดด้วย ทั้งอีกปัจจัยสำคัญคือ การตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายที่รุนแรงในเกาหลีใต้เอง ทำให้เชื่อว่าเป้าหมายของนายหน้าแรงงานผิดกฎหมายไทยมุ่งเป้ามาที่ญี่ปุ่นแทน 

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ นายหน้าจัดหางานผิดกฎหมายในไทยมุ่งมาที่ญี่ปุ่น และเมื่อยื่นคำร้องขอลี้ภัย จะให้เหตุผลว่าถูกประหัตประหารจากรัฐ ด้วยเหตุผลว่า ‘พวกเขาเข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล’ ด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น นี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขการยื่นคำร้องเท่านั้น เพราะรายงานชี้ว่า ไม่มีคนไทยที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่นเลย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเพียงแค่สถานะชั่วคราวเท่านั้น จากการเปิดโควตาหลังสถานการณ์สงครามในหลายๆ ซึ่งจะสามารถอยู่ด้วยสถานะนี้ ในช่วงเวลาพิจารณาเท่านั้น 

ซึ่งสำหรับจำนวนที่ขอลี้ภัยมากขึ้นนั้น ทำให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นชี้ว่า จะมุ่งมั่นในการคัดกรองผู้ลี้ภัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตรวจสอบแต่ละกรณีอย่างรอบคอบด้วย

ทั้งในปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเพียงแค่ 190 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีความขัดแย้งจริงๆ คือ อัฟกานิสถาน, เมียนมา, เยเมน, ปาเลสไตน์ และจีน โดยเหตุผลส่วนใหญ่นั้นมาจาก ความคิดเห็นทางการเมือง, ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และด้านศาสนา 

เมื่อฟรีวีซ่า และการขอลี้ภัย ถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ 

ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งในหลายๆ ประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาญี่ปุ่นที่ค่อนข้างเป็นประเทศที่ไม่ได้เปิดรับผู้ลี้ภัยนั้น ให้สถานะนี้แก่ชาวต่างชาติมากขึ้น โดยในปี 2023 หลังสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง ญี่ปุ่นได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ขอลี้ภัยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 303 คนด้วย ซึ่งล้วนเป็นไปตามเหตุผลทางมนุษยธรรม

แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการมองว่า ชาวต่างชาติ รวมไปถึงชาวไทย และตุรกี ที่ได้ฟรีวีซ่านั้น กลับใช้ช่องทางฟรีวีซ่าไปอย่างผิดวัตถุประสงค์ โดยบริษัท DNR บริษัทที่รับบริการเกี่ยวกับการทำวีซ่าในญี่ปุ่น ได้เขียนบทความวิเคราะห์ และเตือนถึงการใช้ช่องทางนี้ โดยมองว่า ชาวไทยนั้น ไม่ได้ถูกข่มเหง หรือเจอปัญหาในประเทศจริงๆ แต่กำลังมองหาถิ่นที่อยู่ในญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ 

บทความมองว่า ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่นมาก จึงมีคนเข้ามาหางานทำในฐานะแรงงานข้ามชาติอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากสถานการณ์นี้ นายหน้าจัดหางานผิดกฎหมายของไทยจึงจัดหางานให้กับคนไทยที่เข้ามาในญี่ปุ่น ส่งผลให้มีคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัญหานี้ ยังถูกมองว่า นายหน้าที่จัดหางานนั้นมีส่วนอย่างมากในการโฆษณาว่า ‘มีงานที่มีรายได้สูงในญีปุ่น’ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงในการดําเนินการสําหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หลังจากนั้นก็จะหางานพาร์ทไทม์ และจัดหาสถานที่ทํางานที่ผิดกฎหมาย เพื่อหาประโยชน์กับแรงงานเหล่านี้ 

นอกจากนี้ DNR ยังระบุว่า กระบวนการเหล่านี้ มีการร่วมมือกับบริษัทในญี่ปุ่น  “ที่ให้คําแนะนําและการไกล่เกลี่ย การจ้างงานสําหรับใบสมัครผู้ลี้ภัยปลอม ด้วยเหตุนี้ ระบบการรับรู้ผู้ลี้ภัยของญี่ปุ่นจึงถูกละเมิด และวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยถูกบ่อนทําลาย” เว็บไซต์ระบุ รวมถึงเสนอว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเข้มงวดกับระบบตรวจสอบ พิจารณาผู้ลี้ภัยมากขึ้น ตราบใดที่มียังมีการให้ฟรีวีซ่าอยู่ ทั้งควรจะ ทบทวนระบบที่อนุญาตให้ผู้ยื่นขอสถานะลี้ภัย สามารถหางานทำได้ในช่วงการพิจารณาด้วย 

นอกจากไทยที่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นจากการขอยื่นสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ปัญหาการพํานักอย่างผิดกฎหมายของชาวเคิร์ดนั้นถูกพูดถึงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เรื่องนโยบายผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติย้ายถิ่นฐานถูกพูดถึงมากขึ้นด้วย 


เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กับการมีจำนวนชาวต่างชาติสูงที่สุดในประวัติการณ์ 

การปราบปรามอย่างหนักในเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกมองว่า ทำให้การขอสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยจากนโยบาย และการปราบปรามภายใต้รัฐบาลของอดีต ปธน.ยุน ซ็อก-ย็อลนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เพิ่มการตรวจจับ และส่งกลับมากขึ้น โดยตามสถิติการเข้าเมืองในเกาหลีใต้ จํานวนผู้อยู่อาศัยผิดกฎหมายสูงสุดที่ 420,000 คนในปี 2023 ลดลงเหลือ 390,000 คนใน 2024 

ทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเอง ต่างประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในชนบท เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเกาหลีใต้เองก็ได้รับชาวต่างชาติมาทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยเกาหลีใต้ ที่มีประชากรทั้งหมดประมาณ 51 ล้านคน ในปี 2024 นั้น มีจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่มากถึง 2.65 ล้านคน เป็นครั้งแรกของประเทศในเอเชียตะวันออกที่ประชากรต่างชาติเกิน 5% ของประชากรทั้งหมด 

ขณะที่ญี่ปุ่นเอง ในปี 2024 ก็มีสถิติจำนวนชาวต่างชาติเยอะที่สุดเช่นกัน คือ 3.5 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 2.7% ด้วย ซึ่งในขณะที่การต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็ต้องไปพร้อมๆ กับการปราบปรามผู้อยู่อาศัยผิดกฎหมาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง