ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สตรีผู้พลิกโฉมระบบสาธารณสุข และ ผู้จุดประกายวันพยาบาลสากล

ผู้พลิกโฉมวิชาชีพพยาบาลและระบบสาธารณสุขโลก
เมื่อราว 200 ปีก่อน การเข้าไปรักษาโรคในโรงพยาบาลอันตรายกว่าที่คิด เพราะสภาพแวดล้อม สุขอนามัยในยุคนั้นยังไม่สะอาด และ มีมาตรการปลอดเชื้อเท่ากับในยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะในช่วงสงครามที่สุขอนามัยขอผู้ป่วยถูกละเลย เพราะแพทย์พบกับปัญหาการรักษาผู้ป่วยที่ล้นมือ นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เข้าปฏิบัติหน้าที่พยาบาลที่โรงพยาบาลทหารในเมืองสคูตารี ประเทศตุรกี
ไนติงเกลพบผู้ป่วยล้มตายไปกว่า 4,000 คน เพราะต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษเนื่องจากข้อบกพร่องของท่อระบายน้ำ และขาดการระบายอากาศ และ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในด้านสุขาภิบาล ด้วยการนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติของเธอและนักสถิติที่บ่งชี้ว่า "ผู้ป่วยในยุคนั้นเสียชีวิตการติดเชื้อมากกว่าติดโรคหลายเท่า"
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือใคร?
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) สตรีชาวอังกฤษผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกและก่อร่างวิชาชีพพยาบาลสมัยใหม่ ไนติงเกลมีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามไครเมีย (พ.ศ. 2396–2399) ด้วยการจัดระเบียบและปรับปรุงสุขอนามัยในโรงพยาบาลสนาม จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของทหารได้อย่างมาก จนได้รับสมญานามว่า "สตรีถือตะเกียง" ผู้เดินตรวจผู้ป่วยในยามค่ำคืน
ในปี พ.ศ. 2403 เธอก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาลที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส กรุงลอนดอน ถือเป็นวิทยาลัยพยาบาลที่ไม่ขึ้นกับศาสนาแห่งแรกของโลก เธอยังเขียนหนังสือและงานวิจัยกว่า 200 ฉบับ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของราชสมาคมสถิติแห่งสหราชอาณาจักร โดยใช้แผนภูมิในรูปแบบของ "แผนภูมิดอกกุหลาบ" อินโฟกราฟิก เช่น กราฟวงกลม เพื่อสื่อสารข้อมูลสุขภาพกับสาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพ
วิชาชีพพยาบาล รากแก้วของระบบสาธารณสุข
ไนติงเกลไม่ได้เพียงเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพยาบาลจากผู้ช่วยทางการแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีองค์ความรู้ หากแต่ยังปฏิวัติระบบสาธารณสุขโดยเน้นการป้องกันโรค สุขอนามัย และการดูแลแบบองค์รวม
แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมของไนติงเกลกลายเป็นรากฐานของการดูแลผู้ป่วยที่เน้นให้ร่างกายเยียวยาตนเองในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปัจจุบัน พยาบาลสามารถศึกษาต่อยอดถึงระดับปริญญาเอก และเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ไม่แพ้แพทย์
การอุทิศตนบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์ จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก ทำให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) โดยสภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses, ICN) เนื่องจากวันดังกล่าว เป็นวันเกิดของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาลยุค
สถานการณ์และบทบาทพยาบาลในวิกฤตโลกยุคใหม่
นับแต่การปรากฏตัวของเชื้อโควิด -19 พยาบาลเริ่มเข้าไปมีส่วนในภารกิจซึ่งแต่เดิมเป็นภาระงานของแพทย์ทั้งในด้านการรักษาโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง
รวมถึงพก้าวเข้าไปมีบทบาทแทนแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะมีทักษาะและประสบการณ์ในการดูแลรักษาแบบองค์รวมและมีบทบาทชัดเจนในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย
แม้ในยุคปัจจุบันพยาบาลจะปรับบทบาทมาเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่สถานะของพยาบาลในวงการสาธารณสุขกลับอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วง ด้วยความกดดันจากภาวะงานที่ล้นมือ ความเครียดสะสมจากงานที่ต้องรับผิดชอบสุขภาพและชีวิตคนไข้ รวมไปถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพที่อาจไม่สดใสเท่าวิชาชีพอื่นในระบบสาธารณสุข อัตราการลาออกของพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลในปี 2567 ชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนพยาบาลของไทยอยู่ในภาวะวิกฤต โดยสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 270 คน
การแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยายามต้องเริ่มจากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวิชาชีพพยาบาล รณรงค์ให้เยาวชนสนใจเรียนพยาบาล รวมถึงส่งเสริมให้พยาบาลมีบทบาททางวิชาการ นโยบาย และการวิจัยมากขึ้นทุกปี ซึ่งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เตรียมจัดงานวันพยาบาลสากลขึ้นในวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2568
โดยจัดการประชุมวิชาการวันพยาบาลสากล และความสำเร็จในการควบคุมยาสูบ โดยพยาบาล พ.ศ.2568 ในหัวข้อเรื่อง “พยาบาลคืออนาคต ใส่ใจพยาบาล พัฒนาสุขภาพสู่เศรษฐกิจ” และ “กระชากหน้ากากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า นิโคติน เสพติดจนตาย” ณ ห้องประชุมแคทลียา ชั้น 7 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ พร้อมเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมได้ทาง http://tobaccofree.thainurse.org/?p=3311
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลอาจไม่อยู่กับเราในวันนี้ แต่แนวคิดของเธอยังดำรงอยู่ในทุกการดูแลของพยาบาลทั่วโลก ซึ่งพยาบาลไทยที่ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของเธออย่างไม่หยุดยั้ง