รีเซต

อเมริกาคืนชีพ "หมาป่าไดร์วูล์ฟ" ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 12,500 ปี ได้อย่างไร ?

อเมริกาคืนชีพ "หมาป่าไดร์วูล์ฟ" ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 12,500 ปี ได้อย่างไร ?
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 12:54 )
20

ไดร์วูล์ฟ (Dire wolve) เป็นหมาป่าพันธุ์หนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในซีรีส์ดังอย่าง เกมออฟโธรนส์ (Game of Thrones) ซึ่งมีอยู่จริงในแถบอเมริกาเหนือก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 12,500 ปีก่อน 

แต่บริษัทโคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences) เคลมว่าสามารถคืนชีพขึ้นมาด้วยด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงจาก DNA ที่สกัดจากฟอสซิลได้สำเร็จขึ้นมาเป็นตัวผู้และตัวเมียรวม 3 ตัว

การคืนชีพไดร์วูล์ฟด้วย DNA

ในปี 2021 Colossal Biosciences อ้างว่าได้สกัดรหัสพันธุกรรม (DNA) จากฟอสซิลของไดร์วูล์ฟที่มีอายุมากกว่า 13,000 ปี มาเป็นข้อมูลเพื่อตัดต่อยีนจำนวน 20 ชุด ให้กับหมาป่าสีเทา (Gray wolve) เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์ (Mutation) ให้ตรงกับคุณลักษณะสำคัญของไดร์วูล์ฟ

จากนั้นบริษัทก็สร้างตัวอ่อน (Embryos) ของไดร์วูล์ฟที่กลายพันธุ์มาจากหมาป่าสีเทา ให้เติบโตด้วยการฝากตัวอ่อนไว้กับสุนัขตัวเมีย ซึ่งมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรม และคลอดออกมาเป็นลูกไดร์วูล์ฟ โดยบริษัทได้ให้กำเนิดตัวอ่อนไดร์วูล์ฟรวม 3 ตัว 

2 ตัวแรกเป็นตัวผู้ที่ชื่อว่าโรมูลัส (Romulus) กับรีมัส (Remus) ที่ต่างก็มีอายุ 6 เดือนในปัจจุบัน และตัวเมียอีก 1 ตัว ชื่อว่า คาลีซี (Khaleesi - ชื่อเดียวกันกับตัวละครหลักของ GOT, เดเนอริส ทาร์แกเรียน) ที่ปัจจุบันมีอายุได้ 2 เดือน ทั้งหมดได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ปิดลับในสหรัฐฯ กว่า 2,000 เอเคอร์ หรือมากกว่า 5,000 ไร่

ความท้าทายในการคืนชีพไดร์วูล์ฟ

แต่กว่าจะออกมาเป็นตัวอ่อนไดร์วูล์ฟก็มีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากฟอสซิลที่มีความสมบูรณ์ทาง DNA นั้นหาได้ยากมาก แต่โชคดีที่ฟอสซิลที่ฟันของไดร์วูลฟ์ที่มีอายุมากกว่า 13,000 ปี กับฟอสซิลส่วนกะโหลกที่มีอายุมากกว่า 72,000 ปี ยังสามารถสกัดข้อมูล DNA ออกมาได้

และเมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็ต้องคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ที่จะนำมาปรับแต่งยีนเพื่อกระตุ้นการกลายพันธุ์ให้เป็นไดร์วูล์ฟ ซึ่งพบว่าหมาป่าสีเทามีความตรงกันทางพันธุกรรมมากกว่า 99% จึงเลือกมาเป็นต้นแบบเพื่อปรับแต่งพันธุกรรม

นอกจากนี้ การปรับแต่งยีนให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเทคโนโลยีที่ยากมาก เนื่องจากปกติการควบคุมและปรับแต่งยีนจะทำได้แค่ไม่กี่ชุดเท่านั้น แต่ทีมวิจัยของ Colossal Biosciences ได้ทำพร้อมกันถึง 20 ยีน ซึ่งระบุว่าเป็นขีดจำกัดของเทคโนโลยีทางพันธุกรรมในปัจจุบันแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น 5 ใน 20 ยีนที่ปรับแต่ง ยังต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ผิดพลาดจนกระตุ้นให้เกิดอาการตาบอดและหูหนวกในหมาป่าสีเทาด้วย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการปรับแต่งยีนด้วยเช่นกัน

ในขณะที่การสร้างตัวอ่อนได้ใช้วิธีการนำอสุจิของหมาป่าสีเทาที่ปรับแต่งยีนฉีดใส่ไข่ของสุนัขตัวเมียมากกว่า 12 ใบ ซึ่งส่วนใหญ่ตายในระยะตัวอ่อน เนื่องจากเข้ากันไม่ได้ แต่ทางทีมอ้างว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของหมาป่าสีเทา

เดิมทีตัวอ่อนที่รอดและเจริญเติบโตกลายเป็นลูกหมาป่านั้นมี 4 ตัว แต่ตัวหนึ่งตายลงหลังเกิดมาได้ 10 วัน เนื่องจากมีภาวะทางเดินอาหารทะลุ (ruptured intestine) แต่ที่เหลือก็เติบโตอย่างเป็นปกติ

มุมมองและอนาคตจากการคืนชีพไดร์วูล์ฟ

อย่างไรก็ตาม อดัม บอยโก (Adam Boyko) นักพันธุศาสตร์ (geneticist) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ให้ความเห็นกับนิวยอร์กไทม์ส (New York Times) ว่า ลูกหมาป่าทั้ง 3 ตัว ไม่ได้เป็นไดร์วูล์ฟที่แท้จริง 

เพราะ Boyko ตั้งคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าลักษณะเด่นของไดร์วูล์ฟกำหนดโดยยีน 20 ตัว หรือจริง ๆ อาจจะเป็นยีน 2,000 ตัว ก็ได้เช่นกัน แต่ก็ยินดีอย่างมากที่ได้เห็นการดัดแปลงพันธุกรรมจากข้อมูลยีนสัตว์ที่สูญพันธ์ุไปแล้ว

Colossal Biosciences เชื่อว่าโครงการคืนชีพไดร์วูล์ฟ จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจการปรับแต่งยีนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อย่างแมมมอธ นกโดด รวมไปถึงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลกและในสหรัฐอเมริกาที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่นหมาป่าแดง (Red wolve) และไคโยตี (Coyote) ด้วยการปรับแต่งยีนในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง