รีเซต

เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง ดันราคาทองคำนิวไฮรอบ 14 เดือน

เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง ดันราคาทองคำนิวไฮรอบ 14 เดือน
TNN ช่อง16
21 พฤศจิกายน 2564 ( 15:13 )
138

ราคาทองคำในสัปดาห์ก่อนหน้าผันผวนหนัก หลังจากราคา Bitcoin ร่วงลงไปกว่า 7,000 ดอลลาร์อย่างรวดเร็ว จากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 69,000 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กลัวว่าเงินดอลลาร์นั้นจะสูญเสียมูลค่าเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ


ด้านตลาดหุ้นในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ก็ร่วงหนักเช่นกัน จากแรงกดดันของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งขึ้น ซึ่งหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้น

  

 จากผลกระทบดังกล่าวดันราคาทองตลาดโลก ในวันที่ 11 พ.ย. แตะที่ 1,858.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศพุ่งแรงด้วยเช่นกัน โดยภายในวันเดียวทองคำปรับขึ้น 8 ครั้ง รวมเป็นเงิน 650 บาท หนุนให้ราคาทองคำแท่งปรับขึ้นไปที่ ซื้อบาทละ 28,850 บาท และขายออกบาทละ 28,950 บาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 14 เดือน ส่วนทองรูปพรรณ ซื้อบาทละ 28,334 บาท และขายออกบาทละ 29,450 บาท


 

 สำหรับแนวโน้มทิศทางทองคำหลังจากนี้ไปจะมีโอกาสทะยานไปมากกว่านี้หรือไม่ และราคาทองคำในประเทศจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 30,000 บาท ตามที่นักเก็งกำไรหลายคนคาดหวังหรือไม่นั้น TNN ONLINE ได้สัมภาษณ์ น.ส.เบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 


ซึ่งให้มุมมองว่า ราคาทองคำจะดีดตัวแรงไปกว่านี้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องจับตาดูนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด  แบ่งออกเป็น 2 กรณี โดยกรณี แรก ถ้าเฟดปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นโดยไม่มีนโยบายชัดเจนในการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ทองคำปรับขึ้นต่อเนื่อง 


ส่วนกรณีที่สอง เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน จะทำให้ทองคำปรับตัวขึ้นจำกัด ซึ่งต้องรอดูผลการประชุมเฟดในเดือนธ.ค.นี้ และรายงาน DOT PLOT หรือการคาดการณ์การปรับดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต ซึ่งจะเป็นตัวชี้ทิศทางราคาทองคำในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้หากราคาทองคำในประเทศจะแตะระดับ 30,000 บาทได้นั้น ราคาทองคำในตลาดโลกจะต้องอยู่ที่ระดับราคา 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ค่าเงินบาทจะต้องแตะที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะถ้าดูที่ราคาทองโลกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ยังติดลบอยู่ 2% สวนทางกับทองคำในประเทศที่ปรับขึ้น 7% ซึ่งเป็นผลมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง 9% ตั้งแต่ต้นปี

   

สำหรับแนวรับราคาทองโลกที่ 1,833 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถือเป็นจุดที่น่าเข้าซื้อ หรือคิดเป็นราคาในประเทศที่ 28,450 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ระดับที่ 1,872 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือราคาในประเทศที่ 29,300 บาท  


ส่วนการลดคิวอีปลายปี 2021  หากเทียบกับปี 2014-2015 จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นหรือไม่นั้น  เปรียบเทียบไม่ได้ เนื่องจาก สถานการณ์แตกต่างกัน โดยในช่วงนั้นเฟดลดคิวอี 2014 และขึ้นดอกเบี้ย 2015 (ปี58) แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯไม่ถึง 2% แต่ ณ วันนี้เงินเฟ้อสหรัฐสูงลิบลิ่ว 6% ขณะที่ราคาทองคำต่างประเทศช่วง 6 ปีก่อนนั้นอยู่ที่ 1,045 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำแท่งในประเทศอยู่ที่ 17,000-18,000 บาท  เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.50-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


 แต่หลังจากโควิดธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดคิวอี หั่นดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประเทศ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ เพิ่มคิวอีและออกมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทำให้เม็ดเงินไหลหลั่งไหลเข้าในระบบเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวจากผลกระทบของโรคระบาดโควิดหนุนทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดหุ้นคริปโทเคอร์เรนซี และทองคำทำให้ราคาพุ่งทะลุทะลวง


จากการเหวี่ยงตัวของราคาในช่วงที่ผ่านมา และระดับราคาในปัจจุบันที่ถือว่าขึ้นมาอยู่สูงมากแล้วนั้น ทำให้ความเสี่ยงและความผันผวนของการลงทุนในทองคำ จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว


ดังนั้นก่อนที่จะลงทุนทองคำในรูปแบบต่างๆ นักลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และที่สำคัญ ต้องเข้าใจในสไตล์การลงทุนของตัวเองด้วยว่า ต้องการลงทุนระยะสั้นหรือยาว รับความผันผวนของราคาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นชื่อว่าการลงทุน ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ แม้แต่ทองคำ ที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ก็ไม่มีข้อยกเว้น


ที่มา :น.ส.เบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  

ภาพประกอบ :  บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  


 






 



 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง