ทำความรู้จักโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์
โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) คือ การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย สามารถดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ แล้วแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องอินเวอร์เตอร์ เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านใช้งานได้อย่างปกติ
หลักการทำงานของแผงโซลาร์ รูฟท็อป
-แผงโซลาร์เซลล์จะรับแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
-กระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะส่งต่อไปยัง Inverter (เครื่องแปลงไฟฟ้า)
-Inverter (เครื่องแปลงไฟฟ้า)จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ (AC)
-ตู้ควบคุมไฟฟ้าภายในบ้านจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ควรมีพื้นที่บนหลังคาหรือดาดฟ้าที่รับแสงได้ดี
-ทิศใต้จะรับแสงได้ดีที่สุด ทิศเหนือจะรับแสงได้น้อยที่สุด
-การติดตั้งใช้พื้นที่ประมาณ 14-18 ตารางเมตรขึ้นไป
-พื้นที่ติดตั้งต้องรับน้ำหนักได้ ไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/ตรม.
นอกจากนี้ยังมีระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off Grid ที่นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้า เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
บ้านที่เหมาะกับการติดระบบโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop)
1. การใช้ไฟในตอนกลางวันเพียงพอที่จะติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์ได้ เพราะถ้าใช้ไฟกลางคืนเป็นหลัก การติดโซลาร์ รูฟท็อปไปก็ไม่คุ้มค่า เนื่องจากถ้าจะใช้ไฟกลางคืนก็ต้องมีแบตเตอรี่กักเก็บไฟ ซึ่งตอนนี้ราคาแบตเตอรี่กักเก็บไฟแพงมากยังไม่เหมาะกับการลงทุน ในอนาคตหากราคาแบตเตอรี่ถูกลงกว่านี้ก็สามารถติดเพิ่มได้ในภายหลัง
2. ค่าไฟฟ้าควรอยู่ที่ 3,000 บาทขึ้นไป หมายถึง หากค่าไฟที่จ่ายน้อยกว่านี้ก็ยังสามารถติดโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ได้เช่นกัน เพียงแต่การคืนทุนจะนานขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ถ้าค่าไฟไม่ได้แพงมากก็ยังไม่ควรติดจะดีกว่า
3. พื้นที่หลังคาที่จะติดโซลาร์ รูฟ (Solar Roof) ต้องไม่โดนเงาบัง และอยู่ในทิศทางที่รับแดดได้ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้ โซลาร์ รูฟ ที่ติดตั้งไปไม่โดนแดดเพียงพอ พอหลังคาโซลาร์ไม่โดนแดดเต็มที่ การผลิตไฟในแต่ละวันก็จะน้อย ส่งผลให้การติด Solar Roof ไม่คุ้มค่าอีกเช่นเดียวกัน
หากมีการใช้ไฟฟ้าปริมานมากกว่าที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตได้ ระบบจะดึงไฟบ้านเข้ามาช่วยจ่ายไฟ ซึ่งจะช่วยเราประหยัดค่าไฟฟ้า แต่เมื่อถึงเวลากลางคืนจะไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ไฟบ้านเท่านั้น ดังนั้นระบบ Solar Rooftop นี้จะทำงานได้แค่ตอนกลางวันเท่านั้น
ที่มา : กกพ. / www.scgbuildingmaterials.com