รีเซต

SpaceX ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก

SpaceX ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก
TNN ช่อง16
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:09 )
116

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 21.44 น. ณ สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล (CCAFS) บริษัทอวกาศยักษ์ใหญ่อย่าง SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกด้วยจรวด Falcon 9 จรวดขนส่งอวกาศที่มีความทันสมัยมากที่สุดในโลก


โดยภารกิจขนส่งดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ดาวเทียมทั้ง 46 ดวงจะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในระดับความสูงที่สูงกว่าเดิมและมีความกลมของวงโคจรมากกว่าการส่งในรอบที่ผ่าน ๆ มาเพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุสุริยะที่เคยก่อความเสียหายร้ายแรงให้กับดาวเทียม Starlink กว่า 38 ดวง 


สำหรับจรวด Falcon 9 ที่ใช้ในภารกิจครั้งนี้เป็นจรวดบูสเตอร์หมายเลข B1058 ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยก่อนหน้านี้เคยถูกใช้ทำภารกิจขนส่งอวกาศมาแล้ว 10 ภารกิจ เช่น ภารกิจ Crew Demo-2, ANASIS-II, CRS-21, Transporter-1, Transporter-3 และ 5 ภารกิจแรกในการส่งดาวเทียม Starlink ที่บริษัท SpaceX กลับมาใช้กับจรวด Falcon 9 


นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการดาวเทียม Starlink บริษัท SpaceX ได้ทำการส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่วงโคจรมาแล้วประมาณ 2000 ดวง และมีเพียงราว ๆ 200 ดวงเท่านั้นที่ล้มเหลวและที่เลิกใช้ คิดเป็นตัวเลขเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ตามจำนวนดังกล่าวเป็นตัวเลขโดยประมาณเนื่องจากบริษัท SpaceX ไม่เปิดเผยจำนวนของดาวเทียมอย่างเป็นทางการ สำหรับจำนวนดาวเทียม Starlink ที่โคจรอยู่บนในปัจจุบันนับได้ว่าบริษัท SpaceX เดินทางมาได้เกือบครึ่งทางแล้วจากเป้าหมายระยะแรกของการส่งดาวเทียม Starlink 4,400 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร


โครงการดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงแต่มีอัตราความล่าช้าในการส่งข้อมูลต่ำทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ความเร็วในการดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 150 ถึง 500Mbps ความเร็วในการอัปโหลดเป็น 20 ถึง 40Mbps ในขณะที่อัตราความล่าช้าเพียง 20ms นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ต Starlink ได้จากทั่วทุกมุมโลกเพียงมีจานรับสัญญาณ โดยทาง SpaceX ยังเคลมอีกว่าจานรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต Starlink สามารถติดตั้งเองได้ง่าย




ข้อมูลจาก spaceflightnow.com 

ภาพจาก twitter.com/SpaceX

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง