รีเซต

แพทย์ ม.เชียงใหม่ เผยฝุ่น PM 2.5 ทำคนเลือดกำเดาไหลเพิ่ม 2 เท่า

แพทย์ ม.เชียงใหม่ เผยฝุ่น PM 2.5 ทำคนเลือดกำเดาไหลเพิ่ม 2 เท่า
TNN ช่อง16
19 มีนาคม 2567 ( 12:37 )
24

รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ของทุกปีภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการที่มักจะพบบ่อยคือตาแดง ผื่นขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เยื่อบุจมูกอักเสบและเลือดกำเดาไหล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ปกครองมักพาบุตรหลานมาพบแพทย์บ่อยที่สุด 


สาเหตุที่เด็กมีเลือดกำเดาไหลในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM  2.5 สูงนั้น เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดเลือดกำเดาไหลในผู้ป่วยนอกเเละห้องฉุกเฉินของ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กับค่าฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 พบว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน จะมีคนไข้เลือดกำเดาไหลโดยไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นสองเท่า จากปกติเดือนละไม่ถึงสิบคนเพิ่มเป็นเดือนละประมาณ 20 คน จากสถิติทำให้พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดกำเดาไหลอย่างมีนัยสำคัญ  


ปกติแล้วบริเวณเยื่อบุในจมูกคนเราจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะอยู่แล้ว หากสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูกและไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่ “ 


สาเหตุที่ฝุ่นทำให้เลือดกำเดาไหล มาจากค่าอนุภาพฝุ่นขนาดเล็กที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้เมื่อหายใจเข้าไป ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนเป็นปัจจัยเสริมทำให้เยื่อบุจมูกมีการอักเสบและแดงขึ้น มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น โอกาสเลือดกำเดาไหลจึงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะกับคนที่มีโรคประจำตัวด้านภูมิแพ้หรือคนไข้เด็กที่ชอบแคะจมูก โอกาสเลือดกำเดาไหลก็จะมีมากขึ้น


ฝุ่นควันที่เกินมาตรฐานมีผลกระทบโดยรวมต่อสุขภาพ แต่ในส่วนของเลือดกำเดาไหล ส่วนมากที่พบจะเป็นน้ำมูกปนเลือดที่ไม่ได้เป็นอันตรายมาก แต่หากเป็นเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก ก็มีโอกาสทำให้สูญเสียเลือดมาก หากไม่สามารถห้ามเลือดได้ก็ต้องใส่วัสดุห้ามเลือดเข้าไปในช่องจมูก ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีคนไข้กลุ่มนี้เข้ารับการรักษาจำนวนหนึ่ง 


สำหรับกลุ่มเสี่ยงดมฝุ่นจนเลือดกำเดาไหลคือประชาชนทุกกลุ่ม แต่กลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษคือเด็กอายุน้อยกว่า 4 ขวบ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยกลุ่มโรคประจำตัวด้านทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ที่อาจกระตุ้นอาการกำเริบ และ บางคนที่ใช้ยาการป้องกันการแข็งตัวของเลือด รวมทั้ง ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและและใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น 


รศ.พญ.กรรณิการ์ แนะนำประชาชนที่จะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นควัน ให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศรอบตัว หากสูงเกินมาตรฐานก็ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน หรือ ใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM  2.5 รวมทั้งควรอยู่ในห้องหรือสถานที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุด 




    

ภาพจาก TNN ONLINE




ข่าวที่เกี่ยวข้อง