รีเซต

ค่ายรถยนต์ รุกตลาด “xEV” คาด 10 ปี ครองตลาด

ค่ายรถยนต์ รุกตลาด “xEV” คาด 10 ปี ครองตลาด
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2564 ( 16:52 )
96
ค่ายรถยนต์ รุกตลาด “xEV” คาด 10 ปี ครองตลาด

ทิศทางอุตสาหกรรมยายนต์โลก ต่างมุ่งไปสู่รถยนต์ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV โดย ปัจจุบันนานาประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์หลักของโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังมุ่งพัฒน ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV   โดยได้แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ในกลุ่ม xEV ที่ชัดเจน สะท้อนจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ “โจ ไบเดน” ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งไทยเองก็เช่นเดียวกันที่กำลังมีแผนการก้าวสู่ยุคของรถยนต์ xEV เพื่อแทนที่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วน หรือ ICE มากขึ้น


เศรษฐกิจอินไซต์วันนนี้จะพาไปดูข้อมูลตลาดรถยนต์ xEV ในไทยจะคึกคักแค่ไหน และจะก้าวขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดยานยานต์ไทยได้เมื่อไร  ไปติดตามกัน 


รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV (ที่ประกอบด้วยรถยนต์ไฮบริดหรือ HEV รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดหรือ PHEV และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนจากแบตเตอรี่หรือ BEV) ในตลาดโลกปัจจุบันกำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


โดยเฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กหรือ PHEV และ BEV ในปี 2563 ที่แม้ทั่วโลกจะต้องรับมือกับการระบาดของโควิด-19 แต่ยอดขายรถยนต์กลุ่มดังกล่าวรวมแล้วทั่วโลกสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 43 จากปีก่อนหน้า


สำหรับประเทศไทยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของรถยนต์กลุ่ม xEV โดยในปี 2563 แม้ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์ xEV  จะยังมีจำนวนไม่มากเพียง 30,705 คัน  และคิดเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 3.9 ของยอดขายรถยนต์รวมในประเทศ  แต่หากมองอัตราการขยายตัวกลับพบว่าโตสวนตลาดถึงร้อยละ 12.8 


และในปี2564 นี้พบว่า พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV ทั้งกลุ่ม ช่วง 2 เดือนแรกจากกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มขึ้นไปถึง 9,164 คันแล้ว หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 42.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่อยู่ในช่วงของการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ในไทย


ดังนั้นแนวโน้มในทั้งปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ไม่กลับมารุนแรงขึ้นไปกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ในไทยมีโอกาสจะเร่งตัวขึ้นได้สูง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถต่างเริ่มรุกตลาด xEV มากขึ้นในรุ่นระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตลาดเข้าสู่ระดับ mass มากขึ้น และทำให้การแข่งขันทวีความ “ดุเดือด” ขึ้นนับจากนี้


 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ ค่ายรถหลายค่ายจะดันให้รถยนต์รุ่น HEV และ PHEV กลายมาเป็นโมเดลมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในหลายรุ่น เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์ในอนาคต ทั้งในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์ขนาดใหญ่ 


โดยคาดว่ารถยนต์รุ่น HEV และ PHEV จะมีประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน  หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 63 ถึง 70 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 คิดเป็นยอดขาย  29,417 คัน 


ขณะที่ รถยนต์ BEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564  คาดว่ายอดขายรถยนต์ BEVน่าจะแตะที่ประมาณ 4,000 ถึง 5,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 210 ถึง 288 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 79.4 คิดเป็นยอดขาย 1,288 คัน ถือว่าเป็นการเติบโตก้าวกระโดด หลังรถยนต์ BEV สัญชาติจีนเริ่มเข้ามาบุกตลาดมากขึ้นในปีนี้  โดยในระยะแรกใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ก่อนลงทุนประกอบในไทยในอนาคต ซึ่งระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้นของรถยนต์ BEV สัญชาติจีนน่าจะทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  รวมถึงเพิ่มการรับรู้และเข้าใจของตลาดมากขึ้นในอนาคต  

 

สอดคล้องกับความเห็นของ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่คาดการณ์ว่าปี 2564 รถ BEV จะมียอดขายในประเทศถึง 7,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 200% หรือประมาณ 1% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่ตั้ง เป้าหมายไว้ 7.5 แสนคัน  พร้อมกับคาดว่ายอดขายรถ BEV ปี 2565 จะเกิน 10,000 คันแน่นอน


ปัจจุบันค่ายรถยนต์หลายแห่งประกาศแผนเดินหน้าผลักดันรถยนต์อีวีในไทย เช่น  Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan, Porsche , Volvo และ Great Wall Motor


อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้เริ่ม มีราคาถูกลง ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถึง 1 ล้านบาทต้นๆ เท่านั้น  อาทิ  นิสสัน  ลีฟ  ที่ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่  1,490,000  บาท  จากเดิมราคาตั้งไว้ที่ 1,990,000 บาท  ขณะที่ ค่ายเอ็มจี  ราคาอยู่ที่ 1,199,000 บาท  และล่าสุด ค่ายเกรท วอลล์  ผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์สัญชาติจีนที่ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตยานยนต์อย่างเต็มรูปแบบในไทยที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง  ซึ่งกำลังถูกจับตามองว่าทำราคาที่จับต้องได้มากขึ้น  โดยคาดว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 500,000-600,000 บาท ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 นี้ 


ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาด BEV ในอนาคต คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดซึ่งมีกำลังซื้อพร้อม แต่ยังขาดความมั่นใจในเรื่องของการวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง เมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ BEV ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งและระยะเวลาในการชาร์จไฟที่ยังใช้เวลานานอยู่ โดยปัจจุบัน พบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างค่ายรถหรือหน่วยงาน ด้านพลังงานกับสถานีบริการเติมน้ำมันมากขึ้นเพื่อกระจายพื้นที่สถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 647 (1,974 หัวจ่าย) แห่งในปีที่แล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่สนใจตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV ได้ง่ายขึ้น


จากทิศทางการขยายตัวของตลาดรถยนต์ xEV ในประเทศที่จะเติบโตขึ้นดังกล่าว เมื่อผนวกรวมเข้ากับการส่งออกรถยนต์ xEV ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อการผลิตรถยนต์ xEV ในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรุ่นที่ถูกวางตำเหน่งให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่น หรือในรุ่นที่ไทยถูกวางตำแหน่งให้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะรถยนต์ HEV และ PHEV


ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 ถึง 80,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 ถึง 78 จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คันในปี 2563 ในกรณีที่ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าที่คาด 


นอกจากนี้ จำนวนยอดขายและยอดผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ที่คาดการณ์ในไทยดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำจากการพิจารณาโครงการลงทุนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และจากที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอื่นใดออกมา ซึ่งหากมีการลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมรวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์จากรัฐเข้ามาโดยตรงเพิ่มเติมก็คาดว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ xEVเติบโตสูงขึ้นกว่าที่คาดได้



ในอนาคตด้วยแผนการลงทุนของค่ายรถ และแรงสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสมากที่รถยนต์ xEV จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้วกินส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ ICE ที่ครองตลาดอยู่เดิมในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า


โดยในปี 2573 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 55 ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวมในปีนั้น  ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม xEV ของไทยก็มีโอกาสที่จะขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน  โดยสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ xEV คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 47 ของปริมาณการส่งออกรถยนต์รวมของไทย  เนื่องจากตลาดรถยนต์ที่ไทยส่งออกเป็นส่วนใหญ่ต้องอาศัยระยะเวลาที่มากกว่าในการตอบรับต่อรถยนต์ xEV 


จากทิศทางการขยับขยายของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกไปสู่เทคโนโลยีรถยนต์ xEV และดูเหมือนสถานะของไทยเองในปัจจุบันก็ได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการวางยุทธศาสตร์การผลิตและทำตลาดรถยนต์ประเภทดังกล่าวของค่ายรถหลายสัญชาติ ซึ่งหากไทยสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ด้วยการเร่งสร้างความร่วมมืออย่างเหมาะสมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อาจช่วยให้ไทยทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศได้ดีเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันในการเป็นฐานผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง