รีเซต

บราซิล พบ "ไข้เลือดออก" สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19

บราซิล พบ "ไข้เลือดออก" สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19
TNN ช่อง16
23 กันยายน 2563 ( 07:25 )
773
บราซิล พบ "ไข้เลือดออก" สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19

วันนี้ (23 ก.ย.63) เว็บไซต์เดอะสเตรทไทมส์ที่นำงานวิจัยของศาสตราจารย์Miguel Nicolelis จากมหาวิทยาลัยดุ๊กของสหรัฐอเมริกา มาเผยแพร่ โดยทีมวิจัยไปศึกษาการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศบราซิล ว่า ทำไมการระบาดของโรคกระจายไปทั่วประเทศ โดยพบว่า การเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อกระจายไปทั่วบราซิล

นอกจากนี้ ยังบังเอิญไปพบความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 กับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งใช้เกณฑ์วัดดูจากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่บ่งชี้การระบาดของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค กับไวรัสไข้เลือดออกระหว่างปีที่แล้ว กับในปีนี้ 2563 นำไปสู่การค้นพบที่มีความเป็นไปได้ว่า เกิดปฏิกิริยามข้ามกันทางภูมิคุ้มกันระหว่างไวรัสตระกูลไข้เลือดออกกับ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หมายความว่า ถ้าคนๆ หนึ่งป่วยเป็นไข้เลือดออก หรือมีภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก อาจจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาในร่างกายระดับหนึ่งได้ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

จากการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีแอนติบอดีไข้เลือดออกในเลือดสามารถทดสอบแอนติบอดี้โควิด-19 ในเชิงบวกได้แม้ว่าจะไม่เคยติดเชื้อโควิด -19 ก็ตาม หลังจากนี้ ยังคงต้องศึกษาเชิงลึกต่อไปเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสองชนิดนี้ เพราะคือคนละตระกูลกัน

ทั้งนี้ "ไวรัสเดงกี" เป็นเชื้อต้นเหตุก่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อคหรือเสียชีวิต เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต แต่จะไม่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้

ส่วน "โควิด-19" เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากตระกูลโคโรนาไวรัส เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้อาการป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) เป็นต้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ก่อให้เกิดอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในคน และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้

การศึกษาเปรียบเทียบจุดที่มีการระบาดของไวรัสทั้งสองชนิดนี้ ไม่ได้ดูเฉพาะในบราซิลเท่านั้น ทีมวิจัยยังพบความเชื่อมโยงคล้ายคลึงกันนี้ ในหลายประเทศในแถบละตินอเมริกา รวมถึงประเทศในเอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกด้วย 

สำหรับประเทศบราซิลพบการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 4,566,123 คน เสียชีวิต 137,445 คน รักษาหาย 3,887,199 คน กรณีของประเทศบราซิลกลายเป็นจุดสนใจเริ่มต้นจากที่ประธานาธิบดีซาอีร์ โบโซนารู ผู้นำประเทศ ไม่เชื่อในความร้ายกาจของไวรัสชนิดนี้ บอกเสมอว่าเป็นไข้หวัดธรรมดามาเรื่อยๆ ไม่ยอมสวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาไปที่สาธารณะ จนในที่สุดผู้นำรายนี้ ก็ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียเอง แถมยังพาเชื้อไปติดคนในครอบครัวอีก 4 คนด้วย 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง