รีเซต

วันสิ่งแวดล้อมโลก : แอมะซอน ผืนป่าสำคัญของโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และโควิด-19

วันสิ่งแวดล้อมโลก : แอมะซอน ผืนป่าสำคัญของโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และโควิด-19
บีบีซี ไทย
5 มิถุนายน 2563 ( 08:23 )
287
1

Getty Images

ป่าฝนแอมะซอน - ป่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลภูมิอากาศโลกและช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน กำลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่กดดันให้ผืนป่าแห่งนี้ต้องเดินไปสู่ภาวะใกล้ล่มสลาย รวมทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

การตัดไม้ทำลายป่าใน 4 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้คนพากันฉวยโอกาสใช้วิกฤตครั้งนี้เข้าถางป่าอย่างผิดกฎหมาย

 

ก่อนหน้านี้การตัดไม้, การลักลอบทำเหมืองแร่, การบุกรุกถางป่าให้เป็นที่ดินเปล่าและไฟป่า ล้วนแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเรากำลังขยับเข้าใกล้ "จุดที่ไม่อาจหวนคืน" อย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงจุดนั้น แอมะซอนจะไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญของมันได้อย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป

 

ในบราซิล สถิติการตัดไม้ทำลายป่าในเดือนมีนาคมพุ่งพรวดขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นนี้ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE)

 

ทางการบราซิลได้กำหนดให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และจำกัดการเดินทางเคลื่อนย้ายผู้คน เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ภาคสนามซึ่งดำเนินภารกิจปกป้องป่าสงวนมายาวนานต้องถอนกำลังออกไป

 

บราซิลและโบลิเวียเป็น 2 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิ (primary forest) ไปมากที่สุดห้าอันดับแรกในปี 2018 ทั้งยังประสบเหตุไฟป่ารุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วด้วย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น

 

ดร. อันโตนิโอ โดนาโต นอบรี นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของบราซิลบอกว่าหากเอาแต่อ้างถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพียงอย่างเดียว เวลาที่เราคุยกันเรื่องสาเหตุของการสูญเสียผืนป่าแอมะซอน ผมขอเรียกคำพูดเช่นนี้ว่า โกหกสีเขียวคำโต"

 

จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยอื่น ๆ ที่ร่วมกันทำให้ป่าเสื่อมสภาพเข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟป่าหรือการลักลอบล่าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ขัดขวางไม่ให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ของมันอย่างที่ควรจะเป็น

 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากเราไม่สามารถแก้ไขระดับความรุนแรงของการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าให้เปลี่ยนแปลงไปจากอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปด้วย

 

Reuters

พื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุม

วิธีวัดความรุนแรงของการตัดไม้ทำลายป่าที่นิยมใช้กันทั่วไปมากที่สุด คือการหาความกว้างของพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุม (tree cover loss) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ไม่หลงเหลือพืชพรรณใด ๆ อยู่อีกเลย

 

องค์กรพิทักษ์ป่าโลกหรือ Global Forest Watch รายงานว่าในปี 2018 เพียงปีเดียว ได้เกิดพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมในผืนป่าแอมะซอนไปแล้วถึง 40,000 ตร.กม.

ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของป่าปฐมภูมิราว 17,000 ตร.กม. โดยป่าปฐมภูมินั้นคือผืนป่าที่ยังอยู่ในสภาพดั้งเดิมและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

 

ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร. อันโตนิโอ นอบรี เชื่อว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพียงอย่างเดียว ไม่อาจแสดงให้เราเห็นภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ และเราควรจะต้องนำปัญหาการเสื่อมสภาพของผืนป่าที่แอบแฝงอยู่มาพิจารณาร่วมด้วย

 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้องสูญเสียป่าไป

หากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมสภาพ ยังคงดำเนินต่อไปในระดับเดียวกับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แอมะซอนในฐานะระบบนิเวศเขตร้อนอาจหยุดทำงานลง แม้ป่าบางส่วนจะยังคงมีต้นไม้อยู่ก็ตาม

 

เราอาจเสี่ยงเข้าใกล้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "จุดพลิกผัน" (tipping point) อย่างน่าหวาดเสียว โดยจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ จะทำให้ลักษณะทางธรรมชาติของแอมะซอนแปรสภาพไปอย่างสิ้นเชิง

 

การคาดการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นจริง หากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าแตะถึงระดับ 20%-25% ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

ในตอนนั้นแอมะซอนอาจต้องเผชิญกับฤดูแล้งที่ยาวนาน อุณหภูมิภายในผืนป่าสูงขึ้นจนต้นไม้เริ่มตายลง และในที่สุดป่าฝนเขตร้อนก็อาจจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง คล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนา

 

ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป สามารถจะนำหายนะมาสู่ระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้ การที่อุณหภูมิสูงขึ้นและฝนตกน้อยลงหมายถึงภาวะขาดแคลนน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอย่างถั่วเหลือง

 

BBC

โรคภัยชุกชุมยิ่งขึ้น

งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโรคภัยที่แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ เช่นไข้มาลาเรียและโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

 

การที่ป่าเสื่อมสภาพยังทำให้บรรดาแมลงต่าง ๆ ต้องมองหาแหล่งอาหารใหม่ และอาจทำให้พวกมันเริ่มออกหากินเข้ามาใกล้กับเขตเมืองและที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มากขึ้น

นอกจากนี้ ดร. เบียทริซ การ์เซีย เด โอลิเวียรา จากเครือข่ายสืบสวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Red-Clima) ของบราซิลยังบอกว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังนำไปสู่การเกิดโรคที่สัมพันธ์กับอวัยวะอย่างหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคของระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

 

เราจะหลีกเลี่ยงจุดพลิกผันได้ไหม

ศ. คาร์ลอส นอบรี บอกว่ายังพอมีหนทางอยู่

"อันดับแรก เราต้องประกาศนโยบายห้ามตัดไม้ทำลายป่าอย่างสิ้นเชิงในแถบ Panamazonas ทันที รวมทั้งดำเนินโครงการปลูกป่าในทางตอนใต้ ทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ของแอมะซอน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายมากที่สุด"

 

"หากเราสามารถฟื้นฟูให้ป่ากลับคืนมาได้ราว 60,000 หรือ 70,000 ตร.กม.ในบริเวณอันกว้างใหญ่ที่มีช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นกว่าเดิมไปแล้วนี้ เราอาจช่วยให้กลไกของป่ากลับมาทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้ป่าสามารถปรับตัวทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดีขึ้นด้วย" ศ. นอบรีกล่าว

แต่ดูเหมือนว่าแผนการเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ในอนาคตอันใกล้

 

บทความนี้ตัดตอนเนื้อหาบางส่วนมาจากเรื่อง "ผืนป่าแอมะซอนตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และโควิด-19" ท่านสามารถอ่านเนื้อหาเต็มได้ตาม ลิงก์นี้

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง