ภัยธรรมชาติรุนแรงหนักขึ้น เพราะโลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์

สภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2024 ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศแห้งแล้งที่รุนแรงในอิตาลีและอเมริกาใต้ นํ้าท่วมหนักในเนปาล, ซูดาน, และยุโรป คลื่นความร้อนในเม็กซิโก, มาลี, และ ซาอุดิอาราเบีย ที่คร่าชีวิตผู้คนนับพันและพายุไซโคลนร้ายแรงที่เกิดในสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน นํ้าท่วมและพายุเกิดถี่ขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นต่อไปและเป็นอันตรายมากขึ้น ถ้าหากทั่วโลกยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่
สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทําให้คลื่นความร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น นี่เป็นกรณีเกิดขึ้นกับบริเวณพื้นดินส่วนใหญ่และได้รับการยืนยันโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระดับโลกของสหประชาชาติ โดยในอดีต ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นความร้อนมักจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในระยะเวลา 10 ปี แต่ในยุคนี้ กลายเป็นเกิดเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ครั้ง ในทุก ๆ 10 ปี
ไฟป่าเป็นหนึ่งในหลายภัยพิบัติที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศกําลังทําให้มันเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น อย่างเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นในนครลอสแอลเจลิสที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ในเดือนมกราคมปีนี้ เผาทำลายบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างกว่า 12,300 แห่ง และทำให้คนเสียชีวิตหลายสิบคน โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทําให้ชั้นบรรยากาศมีความร้อนและแห้งมากขึ้น และยังทำให้ความชุ่มชื้นตามต้นไม้หายไป จนเมื่อเกิดประกายไฟ จึงทำให้ให้ไฟติดได้ง่ายขึ้น เผาไหม้เร็วขึ้น ลุกลามรุนแรงขึ้น และดับไฟได้ยากขึ้น
ความประมาทของมนุษย์ที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าก็เป็นปัจจัยสําคัญที่ทำให้เกิดไฟป่าด้วย ในเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในยุโรปมากกว่า 9 ใน 10 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารแบบปิ้งย่างบาร์บีคิว การจ่ายไฟฟ้า การสูบบุหรี่ในป่า ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าหลายครั้ง
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศยังทําให้พายุและฝนตกหนักรุนแรงขึ้น เนื่องจากชั้นบรรยากาศร้อนสามารถกักเก็บนํ้าได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อฝนตกจะทำให้ฝนตกหนักขึ้น นักวิทยาศาสตร์พบว่าปริมาณไอนํ้าในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 และสํานักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่าปี 2024 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีฝนตกหนักและปริมาณน้ำฝนสะสมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 เท่าที่มีการบันทึกไว้ ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ปีที่แล้ว ต้องเจอกับพายุใต้ฝุ่น 6 ลูก พัดถล่มฟิลิปปินส์ในห้วงเวลา 30 วัน ทําลายสถิติของการเกิดพายุในช่วงฤดูมรสุมในมหาสมุทรแปซิฟิก
แนวโน้มที่ภัยพิบัติลักษณะนี้ เช่นพายุไต้ฝุ่น และเฮอร์ริเคนจะเกิดขึ้นอีก เหมือนเฮอริเคนเฮเลนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐอเมริกาติดต่อกันในระหว่างปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม ปีที่แล้ว จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ตามวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งนี่เป็นคำเตือนจากเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ WWA และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นด้วยว่าถ้าไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เราจะต้องเจอกับสภาพอากาศที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในทุก ๆ ปี
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
