รีเซต

2566 เส้นทางโควิดยังไปต่อ-ชีวิตต้องเดินหน้า

2566 เส้นทางโควิดยังไปต่อ-ชีวิตต้องเดินหน้า
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2565 ( 16:33 )
310
2566 เส้นทางโควิดยังไปต่อ-ชีวิตต้องเดินหน้า

สถานการณ์โควิด -19 ที่มีแนวโน้มการระบาดลดลง ทำให้ในปี2565 ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การยกเลิก ระบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565  จากนั้น 1 มิถุนายน 2565 ได้มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว

ส่วนการที่ไทย ยกเลิก โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยในอัตราเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนล่าสุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทะลุเป้า 10 ล้านคนไปแล้ว


ขณะที่การเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ยังเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันคนไทยในภาวะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และ ผู้ที่เว้นระยะการฉีดวัคซีนเกินกว่า 4 เดือน


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN อีกว่า ตอนนี้คนไทย กว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนโควิด-19 และจากการติดเชื้อธรรมชาติ

สำหรับแนวโน้มการระบาดโควิด ในปี 2566 อาจจะพบการระบาด แบบกลุ่มก้อนเล็กๆ หรือ Small Wave ได้ แต่หากไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อที่รุนแรง อย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์อาจไม่น่ากังวล และ การระบาดของโควิด- 19 ขณะนี้ พบว่า คล้ายกับ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เข้าไปทุกที


ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด อาจจะคล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี ที่จะเน้นป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต . ขณะที่การเตรียมยารักษาโควิด19 หากมียาตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้นจากเดิม ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะพิจารณาในการนำเข้ามาทันที




ท่ามกลางสถานการณ์โควิด -19 ที่ยังคงมีการระบาดอยู่. ความก้าวหน้าของวัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย นาทีนี้ต้องยกให้กับวัคซีนโควิด-19 HXP GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ที่เดินหน้าทำการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 ในรูปแบบเข็มกระตุ้น จำนวน 10 ไมโครกรัม

หากสำเร็จและผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในกลางปี 2566


ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาเวชภัณฑ์ ยา โดยนักวิจัยไทย หากประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 ที่วิจัยและผลิตโดยคนไทย จะทำให้ระบบสาธารณสุขไทย มีความมั่นคงทางด้านเวชภัณฑ์ ยา อย่างยั่งยืน และลดงบประมาณการนำเข้าได้อย่างมหาศาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง