นาซาจะสร้างกล้องโทรทรรศน์ ขนาดมโหฬารจากแอ่งหลุมบนดวงจันทร์
นาซาจะสร้างกล้องโทรทรรศน์ ขนาดมโหฬารจากแอ่งหลุมบนดวงจันทร์ - BBCไทย
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา เผยถึงแผนสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบมีจานรวมสัญญาณขนาดยักษ์ที่นอกโลก โดยจะใช้แอ่งหลุมใหญ่ที่มีอยู่แล้วบนดวงจันทร์ด้านไกล ทำเป็นจานรับคลื่นวิทยุจากห้วงอวกาศลึก โดยให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1 กิโลเมตร
หากดำเนินการก่อสร้างสำเร็จ กล้องโทรทรรศน์วิทยุแอ่งหลุมดวงจันทร์ (Lunar Crater Radio Telescope - LCRT) จะครองตำแหน่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบมีจานรวมสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ทิ้งห่างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ในมณฑลกุ้ยโจวของจีน ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางของจานรับสัญญาณ 500 เมตร และครองแชมป์กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน
ดร. สัปตะฤษี บันฑ์โยปัทเย จากห้องทดลองการขับดันไอพ่น (JPL) ของนาซาระบุว่า "การสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุซึ่งสามารถรับสัญญาณในช่วงคลื่นที่มีความยาวเป็นพิเศษได้ จะมีข้อดีเหนือกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นโลกหรือโคจรในห้วงอวกาศใกล้โลกอย่างมาก"
- เผยภาพถ่ายใหม่ล่าสุดของหลุมดำขณะปะทุไอพ่นพลังงานสูง
- เผยภาพขยายผิวหน้าดวงอาทิตย์แบบละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา
- น้ำปัสสาวะของนักบินอวกาศใช้เป็นวัสดุก่อสร้างฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ได้
"สัญญาณวิทยุจากห้วงอวกาศลึกที่มีความยาวคลื่นมากกว่า 10 เมตร จะถูกบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ของโลกสะท้อนกลับออกไป ทำให้เราไม่ค่อยได้สำรวจจักรวาลด้วยย่านความยาวคลื่นนี้ และพลาดข้อมูลสำคัญที่ควรได้ไปมากมาย"
"สถานที่ตั้งของกล้องบนดวงจันทร์ด้านไกล ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันสัญญาณรบกวน เช่นคลื่นวิทยุจากบนโลก ดาวเทียมต่าง ๆ และสัญญาณรบกวนจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้เข้าถึงกล้องโทรทรรศน์วิทยุ LCRT ได้อีกด้วย" ดร. บัณฑ์โยปัทเย กล่าวอธิบาย
สำหรับวิธีการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากแอ่งหลุมบนดวงจันทร์นั้น ทีมงานของนาซาจะคัดเลือกแอ่งหลุมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 กิโลเมตร ซึ่งมีความลึกในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นฐานของส่วนจานรับสัญญาณ หลังจากนั้นจะใช้หุ่นยนต์ขึงตาข่ายที่ทอจากสายรับคลื่นวิทยุที่หน้าหลุม และห้อยอุปกรณ์รวมสัญญาณไว้ตรงกลาง จนเกิดเป็นผิวหน้าของจานรับสัญญาณที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กม.
ขณะนี้โครงการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ LCRT ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว โดยทีมผู้ออกแบบหวังว่าจะสามารถพัฒนาต้นแบบของกล้องให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องการให้รับสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำในย่าน 6-30 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ ซึ่งจะเปิดประตูสู่การมองเห็นภาพของจักรวาลในยุคเริ่มแรก ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดได้มีโอกาสศึกษาวิจัยมาก่อน