รีเซต

'ดวงตาจักรวาลจีน' เปิดให้นักวิจัยต่างชาติใช้สังเกตการณ์เกือบ 900 ชม.แล้ว

'ดวงตาจักรวาลจีน' เปิดให้นักวิจัยต่างชาติใช้สังเกตการณ์เกือบ 900 ชม.แล้ว
Xinhua
1 เมษายน 2567 ( 17:22 )
49

(แฟ้มภาพซินหัว : กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 26 ก.ค. 2023)

กุ้ยหยาง, 1 เม.ย. (ซินหัว) -- ฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบจานเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดและตอบสนองเร็วที่สุดในโลก ได้รับคำขอใช้งานจาก 15 ประเทศ และอนุมัติให้ทีมวิจัยต่างชาติเข้าใช้งานสังเกตการณ์รวมเกือบ 900 ชั่วโมง เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2021

ซุนฉุน วิศวกรผู้รับผิดชอบการวัดค่าและควบคุมกล้องฟาสต์ กล่าวว่าสิบห้าประเทศดังกล่าว อาทิ เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ส่วนคำขอใช้งานส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสังเกตการณ์สัญญาณวิทยุปริศนา (FRB) การสังเกตการณ์พัลซาร์ และการสำรวจไฮโดรเจนที่เป็นกลาง

ราล์ฟ อีโตว์ นักดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์พัลซาร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และทำงานเป็นนักดาราศาสตร์พัลซาร์ประจำหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าการเปิดกว้างให้ทั่วโลกเข้าถึงกล้องฟาสต์เท่ากับว่าตอนนี้นักดาราศาสตร์สามารถทำการทดลองที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้เพราะความไวของกล้องโทรทรรศน์ไม่เพียงพอ โดยตัวอย่างสำคัญคือศักยภาพการตรวจจับพัลซาร์ที่อยู่ในกาแล็กซีภายนอก

เจียงเผิง หัวหน้าวิศวกรของกล้องฟาสต์ กล่าวว่าทีมงานจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรับประกันว่ากล้องฟาสต์มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำโลกด้านกล้องโทรทรรศน์ โดยปัจจุบันระยะเวลาสังเกตการณ์รายปีของกล้องฟาสต์อยู่ที่ราว 5,300 ชั่วโมง และมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง กล้องฟาสต์หรือเจ้าของสมญานาม "ดวงตาจักรวาลจีน" ตั้งอยู่กลางแอ่งคาสต์ลึกทรงกลมตามธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเปิดให้คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเข้าใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2021

ข่าวที่เกี่ยวข้อง