รีเซต

"โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)" แบบ "เจดา พิงคิตต์ สมิท" ภรรยาวิลล์ สมิธ ใครสามารถเป็นได้บ้าง รักษาอย่างไร

"โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)" แบบ "เจดา พิงคิตต์ สมิท" ภรรยาวิลล์ สมิธ ใครสามารถเป็นได้บ้าง รักษาอย่างไร
Ingonn
29 มีนาคม 2565 ( 12:18 )
1.3K
"โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)" แบบ "เจดา พิงคิตต์ สมิท" ภรรยาวิลล์ สมิธ ใครสามารถเป็นได้บ้าง รักษาอย่างไร

ในงานประกาศรางวัลออสการ์ Oscar 2022 “วิลล์ สมิธ” (Will Smith) นักแสดงชาย ได้เดินขึ้นไปตบหน้า “คริส ร็อก” (Chris Rock) พิธีกรบนเวที ที่กล่าวถึง เจดา พิงคิตต์ สมิธ (Jada Pinkett Smith) ภรรยาของวิลล์ สมิธ ว่าเธอควรได้แสดงหนังเรื่อง G.I. Jane (ตัวละครนำที่ไว้ผมสั้นทรงสกินเฮด) ซึ่งเป็นมุกล้อเลียนเจดาเรื่องหัวโล้น แต่ทว่าวิลล์ สมิธ ไม่พอใจที่มีคนพูดล้อเลียนภรรยาตัวเอง เนื่องจาก เจดา หรือ เจดา พิงคิตต์ สมิธ ป่วยเป็นโรค “ผมร่วงเป็นหย่อม” หรือ Alopecia Areata 

 

วันนี้ TrueID จะพามาสำรวจอาการ และทำความเข้าใจ "โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)" แบบ "เจดา พิงคิตต์ สมิท" ว่ามีลักษณะอย่างไร และสามารถรักษาโรคผมร่วงนี้อย่างไรได้บ้าง

 

 

ภาพจาก ANGELA WEISS / AFP

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร

Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคที่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผมจนทำให้ผมร่วง โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น คิ้ว ขนตา หนวดเครา หรือขนรักแร้ เป็นต้น โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งปริมาณผมหรือขนที่ร่วงและที่งอกขึ้นมาใหม่ของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะแตกต่างกันออกไป สาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

  • Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
  • Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

 

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะใน Alopecia universalis (AU) ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็มีการรักษาที่ช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้เร็วขึ้น

 

ใครบ้างที่จะเป็น "โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)" แบบ "เจดา พิงคิตต์ สมิท" 

เกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆ กัน มักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยเฉลี่ยคือประมาณ 30-40 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%

 

อาการ "โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)"

  • ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะเป็นวงกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์
  • มีอาการคันหรือแสบ มีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ผมร่วง
  • อาจมีขนร่วงตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ขนตา คิ้ว ขนรักแร้ หนวดเครา หรือขนตามแขนขา เป็นต้น
  • อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ
  • ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย คือ การพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ เล็บขรุขระ เล็บเปราะ หรือมีจุดแดงบริเวณโคนเล็บ เป็นต้น โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้

 

ทั้งนี้ ขนและผมที่ร่วงนั้นจะงอกขึ้นใหม่ได้เองภายใน 3-4 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่งอกกลับขึ้นมาอีกเลย ทั้งนี้ อาการผมร่วงเป็นหย่อมอาจหายไปและกลับมาเป็นได้อีก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและไม่สามารถคาดเดาการเกิดได้

 

สาเหตุของ "โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)"

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคโรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
  • การเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อไวรัส
  • การได้รับยาบางชนิด
  • ความเครียดที่สะสมระดับเรื้อรังหรือรุงแรง

 

วิธีรักษา "โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)"

  1. ผมจะงอกขึ้นมาใหม่เองประมาณ 3-6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องรักษา และโรคไม่มีอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วย
  2. การใช้สเตียรอยด์ ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายแก่รูขุมขน และทำให้เส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง
  3. ใช้ยาปลูกผม แต่หากใช้ยาปลูกผมมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ควรหยุดใช้ยาและใช้วิธีอื่นรักษาแทน
  4. ทำภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อทำให้เกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ผมกลับมางอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง
  5. รับประทานอาหารเสริมวิตามินหรือสมุนไพร
  6. ฝังเข็ม ซึ่งอาจช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้


อย่างไรก็ตาม การรักษาทางเลือกเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าจะช่วยรักษาอาการผมร่วงหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้น หากต้องการใช้การรักษาทางเลือกใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ

 

 

ข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , Pobpad

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง