รีเซต

ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม"

ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม"
TNN ช่อง16
29 มีนาคม 2565 ( 07:43 )
101

สำหรับประเด็นร้อนในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้นกรณีดราม่า วิลล์ สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก หลังเล่นมุกตลกล้อเลียนภรรยาของวิลล์กลางเวทีประกาศรางวัลออสการ์ 2022 โดยคริสได้กล่าวว่า เหตุที่ เจดา พิกเก็ต-สมิธ โกนศีรษะ เพราะเตรียมรับบททหารหญิงในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง จึงสร้างความไม่พอใจให้กับวิลล์เป็นอย่างมาก


เจดา พิกเก็ต-สมิธ
ที่มาของภาพ Danny Moloshok

 



แต่หารู้ไม่ว่าขณะนี้เจดากำลังประสบกับโรค "ผมร่วงเป็นหย่อม" หรือ Alopecia areata ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าทำลายเซลล์ผลิตเส้นผมบริเวณรูขุมขน ส่งผลให้การสร้างเส้นผมไม่สมบูรณ์ เส้นผมที่ได้จะมีความเปราะบางโดยบริเวณโคนเส้นผมจะมีความบางกว่าปลายเส้นผม เรียกว่า Exclamation matk hair หรือลักษณะเส้นผมแบบสัญลักษณ์อัศเจรีย์ (สัญลักษณ์ !) จึงขาดหลุดร่วงได้ง่าย


Alopecia เป็นชื่อเรียกของภาวะผมและขนร่วง นอกเหนือจาก Alopecia areata ที่มีผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว ยังมีการจำแนกเป็นชนิดอื่น ๆ อีก เช่น Alopecia totalis คือ ภาวะผมร่วงที่ศีรษะ หรือ Alopecia universalis คือ ภาวะผมและขนร่วงทั้งร่างกาย เป็นต้น


ลักษณะการหลุดร่วงของเส้นผมใน Alopecia areata จะเกิดขึ้นเพียงบางจุดบนหนังศีรษะ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อเรื่องความสวยความงามโดยตรง ผู้ป่วยจะเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง, วิตกกังวล และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด ดังนั้น จะเห็นว่าโรคนี้ไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการทางกาย แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย


Alopecia areata
ที่มาของภาพ Avens Online

 


เนื่องจากปัจจุบันโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ใจ แต่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้น ยากดภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ จึงเป็นทางเลือกหลักในการรักษา Alopecia areata  อย่างไรก็ตาม ยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงหลายประการหากรับประทานเป็นระยะเวลานาน เช่น ตัวบวม, ผิวลาย, ความดันโลหิตสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าตัวยาสเตียรอยด์มีผลต่อเรื่องความสวยความงามไม่ต่างจากโรค Alopecia areata และอาจกระทบต่อภาวะจิตใจของผู้ป่วยมากขึ้นด้วย


ในระยะหลังเทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมได้รับการพัฒนามากขึ้น มีหลายงานวิจัยที่ทดลองนำสเต็มเซลล์ (Steam cell) มาใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงจาก Alopecia areata ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร World Journal Clinical Cases ได้ทดลองใช้สเต็มเซลล์ที่เก็บได้จากสายสะดือฉีดเข้าไปในหนังศีรษะบริเวณที่เกิดผมร่วง แม้ใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่ปรากฏว่าสเต็มเซลล์สามารถกระตุ้นให้เซลล์ในหนังศีรษะกลับมาสร้างเส้นผมที่แข็งแรงได้อีกครั้งหนึ่ง

ที่มาของภาพ Unsplash

 


นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สามารถเก็บรวบรวมสเต็มเซลล์ได้ง่ายขึ้น นั่นคือเทคโนโลยีในการเปลี่ยนย้อนกลับเซลล์ (Reprogramming stem cell) โดยนักวิทยาศาสตร์จะนำเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เปลี่ยนย้อนกลับให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ แล้วกระตุ้นให้เซลล์ดังกล่าวกลายเป็นเซลล์สร้างเส้นผมก่อนปลูกถ่ายไปยังหนังศีรษะในบริเวณที่ต้องการ


ซึ่งวิธีการเปลี่ยนย้อนกลับของเซลล์นี้จะมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้สเต็มเซลล์จากแหล่งอื่น ๆ เนื่องจากเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเองจึงไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเข้ามาทำลายสเต็มเซลล์นั้น อีกทั้งยังสามารถสร้างสเต็มเซลล์ในปริมาณมาก ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย (อ่านบทความเพิ่มเติมได้จาก ลิ้งก์นี้)




สำหรับกระบวนการในการรักษาโรค Alopecia areata ด้วยสเต็มเซลล์นั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าการรับประทานยาอย่างแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 123

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง