รีเซต

AI สร้าง “รูปปั้นที่เป็นไปไม่ได้” ศิลปะและวิศวกรรมล้ำยุคจากสวีเดน

AI สร้าง “รูปปั้นที่เป็นไปไม่ได้” ศิลปะและวิศวกรรมล้ำยุคจากสวีเดน
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2566 ( 09:48 )
87
AI สร้าง “รูปปั้นที่เป็นไปไม่ได้” ศิลปะและวิศวกรรมล้ำยุคจากสวีเดน

รูปปั้นจากปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แซนด์วิค (Sandvik) บริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกจากสวีเดน เปิดตัวรูปปั้นดิ อิมพอสสิเบิล สแตจูว (The Impossible Statue) รูปปั้นแกะสลักที่รวมร่างกายบางส่วนจากงานของศิลปินในตำนาน เช่น ไมเคิลแองเจโล นักแกะสลักชาวอิตาลี มาเป็นแรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้ โดยมีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เป็นผู้ลงมือแกะสลักทั้งหมดด้วยตัวเอง 


ผลงานชิ้นนี้ได้ใช้สเตนเลสสตีลกว่า 500 กิโลกรัม เพื่อสร้างรูปปั้นที่มีความสูง 150 เซนติเมตร ขึ้นมาด้วยการตัดเฉือนโดยเครื่องควบคุมแบบคอมพิวเตอร์ หรือซีเอ็นซี แมชชีน (CNC Machine) ที่แม่นยำ คลาดเคลื่อนจากแบบที่ร่างไว้เพียง 30 ไมครอน ซึ่งบางกว่าความหนาของกระดาษ A4 หนึ่งแผ่นเท่านั้น


เทคโนโลยีเพื่อสร้างรูปปั้นจากปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทางบริษัทได้ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นด้วยตัวเองและเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกมาใช้กับกระบวนการทั้งหมด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ประณีตและแม่นยำ ตลอดจนลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองในกระบวนการแกะสลักทั้งหมด


กระบวนการนั้นได้เริ่มต้นจากการร่างแบบสำหรับผลิตบนคอมพิวเตอร์ หรือ แคดทูล (Computer Aided Manufacturing: CAM Tool) ไปจนถึงการใช้ เวอริคัต (Vericut) โปรแกรมที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเพื่อจำลองการสกัด ขัด และเจาะกว่า 6 ครั้ง ก่อนเดินเครื่องจริงด้วยเครื่องมือหลากหลายขนาดของบริษัทเอง ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ล้วนมีเอไออคอยควบคุมหรือสนับสนุนการทำงาน ตั้งแต่การออกแบบร่าง 3 มิติ จนถึงการเดินเครื่องอย่างแม่นยำ


วัตถุประสงค์ของรูปปั้นจากปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เป้าหมายสำคัญของแซนด์วิค (Sandvik) คือการแสดงศักยภาพเทคโนโลยีด้านการขุดเจาะที่ประณีตและแม่นยำ อีกทั้งยังเป็นการสาธิตความสามารถที่เอไอในปัจจุบันทำได้ ด้วยโจทย์หินอย่างการรวมร่างกายจากผลงานของ 5 ศิลปินดังต่างยุคสมัย ตัวอย่างเช่น ไมเคิลแองเจโล ศิลปินอิตาลียุคศตวรรษที่ 15 ออกัสเตอ โรดิน ศิลปินชื่อดังของฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 ให้ออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ที่เห็นกันตอนนี้


ดิ อิมพอสสิเบิล สแตจูว ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ งานชิ้นดังกล่าวอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสงสัยว่าแท้จริงแล้วศิลปะคืออะไร พร้อมคำถามสำคัญที่ว่า เอไอ จะสร้างสรรค์สิ่งใดได้อีกในอนาคต 



ที่มาข้อมูล Reuters, Sandik

ที่มารูปภาพ Sandik

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง