รีเซต

การสมรสซ้อน คืออะไร? มีผลอย่างไร?

การสมรสซ้อน คืออะไร? มีผลอย่างไร?
TrueID
19 กุมภาพันธ์ 2564 ( 09:42 )
8.8K
การสมรสซ้อน คืออะไร? มีผลอย่างไร?

จากกรณีเมื่อวันที่ (18 ก.พ.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กหญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวจังหวัดชัยนาท ได้โพสต์วิดีโอคลิปเหตุการณ์ขณะที่ตนเองบุกเข้าไปในงานมงคลสมรสงานหนึ่ง ซึ่งมี “สิบตำรวจเอก” นายหนึ่ง ที่เป็นอดีตสามีของตน กำลังทำพิธีผูกข้อมือกับเจ้าสาวอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะแสดงใบทะเบียนสมรส ชื่อของเจ้าบ่าวกับตน จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนอำเภอเมืองชัยนาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 มาแสดงในงาน พร้อมกับกล่าวว่า “แต่งได้ไงไม่รู้ ทะเบียนสมรสค้างอยู่ งงมาก” ซึ่งทั้งคู่กำลังถ่ายรูปอยู่ ไม่ได้มีท่าทีสนใจแต่อย่างใด ก่อนที่ผู้หญิงรายนี้กล่าวว่า “เราไปกันดีกว่า เขาไม่ต้อนรับเราแล้ว” จึงเกิดคำถามว่า"สมรสซ้อน"คืออะไร มีผลอย่างไร วันนี้ trueID news จะพาไปพบกับคำตอบในกรณีดังกล่าว

 

อ่าน 16 ปีไม่มีความหมาย? ภรรยาพกทะเบียนสมรส บุกงานแต่งงานสามีตร.กับสาวอื่น

 

"การสมรสซ้อน"คืออะไร?

หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับอีกบุคคลหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตนมีพันธะทางการสมรสกับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า "คู่สมรส" อยู่แล้ว และการสมรสนั้นยังไม่สิ้นสุดลง การสมรสซ้อนเป็นความผิดอาญาในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

 

"การสมรสซ้อน"มีผลอย่างไร?

การจดทะเบียนสมรสซ้อนถือว่าเป็นโมฆะ และการจดทะเบียนสมรสซ้อนถือเสมือนว่าไม่ได้มีการจดทะเบียน
     

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


       มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
       มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ


        มาตรา 1452 กำหนดเงื่อนไขห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายครอบครัวที่กำหนดให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว หากทำการสมรสซ้อนหรือสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 


        บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถกล่าวอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนนั้นย่อมเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย 


         ซึ่งการสมรสซ้อนนี้แม้ชายหรือหญิงคู่สมรสจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีการสมรสเดิมอยู่แล้ว ก็ยังคงเป็นโมฆะอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามคู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นก่อนที่ตนจะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

 

กรณีจำเลยรับราชการตำรวจต้องรับโทษไหม?

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยวิธีการเสริมสร้างและพัฒนาให้ข้าราชการตำรวจมีวินัยและป้องกันมิให้ข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัย พ.ศ. 2549 กำหนดบทลงโทษดังนี้ ข้าราชการตำรวจเกี่ยวข้องกับหญิงอื่น หรือชายอื่น โดยที่ตนเองมีภรรยา หรือมีสามีอยู่แล้ว และเกิดเรื่องเสื่อมเสีย โดนกักขัง 30 วัน, ได้หญิง หรือชายเป็นภรรยา หรือสามีแล้วไม่เลี้ยงดู และเกิดเรื่องเสื่อมเสีย หรือเสียหาย โดนกักขัง 30 วัน, จดทะเบียนสมรสซ้อน โดนกักขัง 30 วัน, ไม่เลี้ยงดูคู่สมรสและบุตร และไม่ยกย่องฐานานุรูป โดนกักขัง 30 วัน, ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในใบสำคัญการหย่าเกี่ยวกับการอุปการะบุตร ความผิดครั้งแรก ภาคทัณฑ์ ความผิดครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นการหย่ารายเดียวกันหรือไม่ก็ตาม กักยาม 3 วัน และความผิดครั้งที่สามและครั้งต่อไป กักยาม 3 วัน และพิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนตามมาตรา 101

 

 

นอกจากนี้ ยังได้มีหนังสือแก้ไขแนวทางการลงโทษทางวินัยร้ายแรง ในข้อ 10 เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ในข้อ 10.1 จากเดิมว่า “เป็นชู้หรือมีชู้กับภรรยาหรือสามีผู้อื่น” (ปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี) เป็น “ชู้หรือมีชู้ หรือมีพฤติการณ์เป็นชู้หรือมีชู้กับภรรยาหรือสามีผู้อื่น” (ปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี) 

 

 

 

ข้อมูล : http://www.discipline.police.go.th/BV09.pdf , https://bit.ly/2NFGxax

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay 

 

++++++++++

 

ห้ามพลาด! ทุกวัน ... เวลา 10.30 น. – 11.30 น. ชมสด “ข่าวปะทะ Social”

รายการเล่าข่าวน้องใหม่จาก TrueID ที่เจาะประเด็นร้อนประจำวัน

โดย “เซียนโอ๊ตโต๊ะ” และ “ดลลี่” สองพิธีกรคู่จิ้นที่โด่งดังจาก “Online Station” (ช่องเกมส์ออนไลน์ชั้นนำของประเทศไทย)  รับชมได้ผ่าน TrueID.net, TrueID App และ TrueID TV BOX

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง