รีเซต

5 คดีอาชญากรรมแห่งปี รวมที่สุดของการ ไล่ล่า-อุจอาจ-สะเทือนใจ

5 คดีอาชญากรรมแห่งปี รวมที่สุดของการ ไล่ล่า-อุจอาจ-สะเทือนใจ
TNN ช่อง16
11 ธันวาคม 2566 ( 10:33 )
109
5 คดีอาชญากรรมแห่งปี รวมที่สุดของการ ไล่ล่า-อุจอาจ-สะเทือนใจ


ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดคดีอาชญากรรมที่เป็นที่สนใจของประชาชนและเกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมากมายหลายคดี บางคดีเกิดขึ้นต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้หลายปีแต่กลับพึ่งมาถูกเปิดโปงในปีนี้ แต่ก็มีบางคดีที่เกิดขึ้นฉับพลันอย่างอุกอาจโดยที่ไม่มีการคาดการณ์มาก่อน


ทีมข่าว TNN Online นำเอา 5คดีที่มีความเคลื่อนไหวในรอบปี 2566 มาสรุปเหตุการณ์ พร้อมชวนพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหลังเกิดความสูญเสีย


คดีที่มีผู้เสีชีวิตเชื่อมโยงกันมากที่สุด-คดีวางยาพิษ ‘ไซยาไนด์’


จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 นางทองพิน  และ นางสาวนิภาวรรณ แม่และพี่สาว ของนางสาวก้อย เข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อร้องขอให้ทางตำรวจช่วยสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนางสาวก้อย 


เนื่องจากสงสัยว่านางสาวแอมหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของนางสาวก้อย และมีอดีตสามีเป็นตำรวจที่อยู่ในที่เกิดเหตุจะบิดพริ้วข้อเท็จจริง อีกทั้งครอบครัวยังมีข้อมูลว่ามีนอกจากก้อยแล้วยังมีผู้เสียชีวิตอีก 4 รายที่เสียชีวิตลักษณะคล้ายกันกับก้อยซึ่งในทุกเหตุมีนางสาวแอมเข้าไปพัวพัน


การสืบสวนเริ่มต้นทันทีโดยมี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ โดยตำรวจเริ่มเก็บข้อมูลการเสียชีวิตแบบผิดปกติ มีการตั้งเงื่อนไขว่านอกจากการตายที่ผิดแปลกตัวผู้เสียชีวิตจะต้องมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับ แอม จนทำให้ในที่สุดตำรวจมีข้อมูลมากพอและ สามารถระบุว่าแอม คือผู้ต้องหาหลักที่ก่อเหตุโดยใช้แผนประทุษกรรมลักษณะคล้ายกัน


รายแรกสุดของการก่อเหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2566 มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย เกิดขึ้นในพื้นที่ 8 จังหวัด ทั้งนี้ผู้เสียหายทั้งหมดมีความข้องเกี่ยวกับแอม เรื่องของเงิน มีทั้งเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์


ผู้เสียหายทุกรายถูกวางยาพิษ(สารไซยาไนด์)เพื่อทำให้เกิดอาการลักษณะเหมือนการเจ็บป่วยจากภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลว และให้ครอบครัวไม่มีข้อสงสัยและคิดว่าญาติตัวเองเสียชีวิตเพราะหัวใจวายเฉียบพลัน


สรุปพฤติกรรมการก่อเหตุคดีนี้มี 3 ประการ คือ 1. ขับรถไปรับผู้เสียชีวิตออกมารับประทานอาหารแล้วลอบวางไซยาไนด์และนำไปส่งบ้าน กระทั่งผู้เสียหายเสียชีวิต 2. รับผู้เสียชีวิตออกมาจากบ้านและลอบวางไซยาไนด์จนเสียชีวิต และ 3. ส่งแคปซูลยาอ้างเป็นยาลดความอ้วนไปให้ผู้เสียชีวิตถึงที่บ้าน


พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้เคยเปิดเผยไว้ว่าคดีนี้นับเป็นคดีที่ระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดในประเทศไทย ต้องรวมพยานมากกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน


ในท้ายสุดแอม ถูกดำเนินคดีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ, ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้, การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอม และใช้เอกสารปลอมฯ รวมกว่า 75 ข้อหา 


ส่วนเรื่องสารไซยาไนด์ หลังจากตำรวจพบหลักฐานเป็นขวดสารพิษดังกล่าวที่บ้านของผู้ก่อเหตุได้มีการขยายผลไปถึงบริษัทที่นำเข้ามาจำหน่ายและทำให้เกิดการวางมาตรการห้ามจำหน่าย


เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เพียงเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่ก่อเหตุติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปีเท่านั้น แต่กลายเป็นชนวนความสนใจว่าสารพิษดังกล่าวจะเกิดอันตรายหากยังอนุญาตให้ประชาชนเข้าถึง นั่นจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมโรงงาน หรือ กรมสรรพากรออกมาเคลื่อนไหวกันอยู่พักใหญ่เพื่อปรับระเบียบให้การเข้าถึงสารชนิดดังกล่าวเป็นไปได้ยากที่สุด 


คดีที่มีตำรวจพัวพันมากที่สุด-ส่วยสติ๊กเกอร์ ส่วยทางหลวง


แม้ประเด็น ‘ส่วยสติ๊กเกอร์ ส่วยทางหลวง’ จะถูกเปิดเผยมาแล้วกว่า 30 ปีแต่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการขับเคลื่อนของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล และ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย


สองบุคคลนี้ที่เรียกว่าเปิดหน้าเปิดข้อมูลต่อสู้ปมปัญหานี้ต่อเนื่องหลายเดือนหลังจากที่ทั้งสองรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เดือดร้อนจากการเรียกเก็บสินบนของตำรวจทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากผู้ประกอบการรถบรรทุกที่วิ่งขนส่งหลายเส้นทางทั่วประเทศ


สิ่งที่เกิดขึ้นโดยสรุปคือ บริษัท หรือโรงงาน หิน ดิน ทรายจะทำการจ่ายส่วยให้กับตำรวจและเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทางหลวง หรือ กรมทางหลวงชนบทเพื่อแลกกับการให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกวัสดุก่อสร้างเกินน้ำหนักมาตรฐานได้ ซึ่งหากรายใดที่ทำการจ่ายสินบนแล้ว ก็จะได้ติดสติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์ว่าผ่านการเคลียร์เรียบร้อยแล้ว แต่หากรายใดที่ไม่มีสติกเกอร์เมื่อถูกตรวจสอบและพบว่าบรรทุกเกินก็จะถูกเรียกปรับเป็นเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับการไม่ยึดรถและไม่ดำเนินคดี


ประเด็นนี้ทำให้เกิดเป็นความเดือดร้อน กับเหล่าผู้ประกอบการที่จะต้องวิ่งเต้นหาเงินมาจ่ายสินบนแลกสติกเกอร์ โดยราคาเริ่มตั้งแต่ 3,000 บาทสูงสุดถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งเมื่อคิดคำนวนแล้วระบบการเงินของวงการนี้ หากรถบรรทุกจ่ายส่วยเฉลี่ย 3,500 บาทต่อเดือน มีรถบรรทุกวิ่งบนถนนหลวงราว 5 แสนคัน จะรวมเป็นมูลค่า 1,750 ล้านบาทต่อเดือน


ความถูกหรือแพงของสติกเกอร์ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่านที่รถบรรทุกต้องวิ่งผ่าน ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อเกี่ยวข้องกับตำรวจทางหลวงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยมีจเรตำรวจแห่งชาติเป็นแม่งานหลัก


การสืบสวนมีความเคลื่อนไหวเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนมีการเรียกดำเนินคดี สั่งโยกย้ายตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปแล้ว 29 รายและแบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดเป็นหลายกลุ่ม คดีนี้จึงนับว่าเป็นการเอาผิดกับตำรวจมากที่สุดในรอบปี 2566


คดีของผู้ที่วางตัวว่ามีอิทธิพลมากที่สุด 


งานเลี้ยงยังไม่ทันเลิกรา กลับเกิดเหตุความสูญเสียขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กันยายน ในงานเลี้ยงรวมตัวของตำรวจในพื้นที่และตำรวจใกล้ชิดของ กำนันนก (ปัจจุบันมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้ว) ผู้มากอิทธิพลในจังหวัดนครปฐมที่ถูกจัดขึ้นเป็นวาระประจำเดือน


ตำรวจมากกว่า 30 ชีวิตต่างมารวมตัวกันเพื่อกินเลี้ยงและพูดคุยกับผู้มากบารมีอย่างกำนันนก โดยเหตุการณ์เป็นไปอย่างรื่นเริงจนกระทั่งเวลา 21.00 น. กำนันนกได้พูดคุยและขอให้ พ.ต.ต. ศิวกร สายบัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจทางหลวง กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำเรื่องโยกย้ายให้คนรู้จัก เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ก่อนวาระ ซึ่งขณะนั้น พ.ต.ต. ศิวกร ได้ปฏิเสธและให้เหตุผลว่าผู้ที่ ดำรงตำแหน่งเดิมยังไม่หมดวาระจึงไม่มีเหตุจำเป็นและไม่เหมาะสมที่จะต้องมีการโยกย้าย


คำตอบของพ.ต.ต. ศิวกร คล้ายกับเป็นชนวนเหตุให้กำนันนกสั่งการให้นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ยิงพ.ต.ต. ศิวกร ที่โต๊ะอาหารและเป็นเหตุให้พ.ต.ท. วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่นั่งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บร่วมไปด้วย


จากพยานหลักฐานทั้งหมดเปิดเผยต่อสังคมว่า นายตำรวจบางส่วนเท่านั้นที่เป็นผู้พาพ.ต.ต. ศิวกร และ พ.ต.ท. วศิน มุ่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่เหลือเลือกจะทำสิ่งที่ผิดวิสัยตำรวจคือช่วยพาผู้ต้องหาหลบหนีจากที่เกิดเหตุและทำลายหลักฐาน


เหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้นำมาซึ่งความสูญเสียของพ.ต.ต. ศิวกร เท่านั้นแต่ยังลุกลามไปถึงพ.ต.อ. วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง หนึ่งในผู้ร่วมงานเลี้ยงอดีตกำนันที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองที่บ้านพัก หลังจากเกิดความเครียดจากการสืบสวนคดีที่เกิดขึ้น โดยมีข้อมูลชุดหนึ่งระบุว่าพ.ต.ต. ศิวกร เป็นสารวัตรรุ่นน้องที่ใกล้ชิดกับพ.ต.อ. วชิรา อย่างมาก


เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นผู้เสียหายเป็นตำรวจทำให้การสอบสวนเป็นไปอย่างเข้มข้นและ ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ถึงหนึ่งวันหลังเกิดเหตุนายธนัญชัย ถูกเจ้าหน้าที่ทำการวิสามัญ อดีตกำนันนกเข้ามอบตัว ชุดสืบสวนเจอกล่องดำของกล้องวงจรปิดที่ มีผู้พยายามปกปิดทำลายหลักฐาน


หลักฐานและคำให้การเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกันทำให้สุดท้ายอดีตกำนันหนีไม่พ้นถูกสั่งฟ้องในข้อหา ‘เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด’

ส่วนตำรวจในงานเลี้ยงอีก 21 รายถูกแจ้งข้อหา ‘เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ’


แม้การดำเนินคดีของผู้ร่วมกระทำความผิดจะเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมแต่สังคมก็ยังคงเกิดคำถามว่า วัฒนธรรมการกินเลี้ยงบ้านของผู้มีอิทธิพลเป็นสิ่งที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องทำหรือไม่? เบื้องหลังของการปลิดชีพนายตำรวจที่ทำหน้าที่มาอย่างดีเสมอมีเพียงการขอให้เลื่อนตำแหน่งเพียงครั้งเดียวจริงหรือไม่? และสุดท้ายตำรวจที่ตัดสินใจช่วยผู้ร้ายจะถูกลงโทษ อย่างเหมาะสมหรือเปล่า?


คดีที่ก่อเหตุอุกอาจมากที่สุด-เยาวชนยิงในพารากอน


เวลา 16.40 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุคนร้าย 1 รายก่อเหตุยิงภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 รายบาดเจ็บมากถึง 5 ราย หลังเกิดเหตุประมาณ 30 นาทีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสายตรวจสามารถเข้าระงับเหตุได้


เหตุนี้ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเยาวชนวัย 14 ปี ใช้อาวุธปืนแบบดัดแปลงที่เรียกว่าแบงค์กัน(Blank Gun) โดยภายหลังทราบว่าเป็นการสั่งซื้อจากช่องทางออนไลน์มาใช้ก่อเหตุในวันนั้นตัวผู้ก่อเหตุโดยสารรถไฟฟ้าและเดินเข้าศูนย์การค้าได้ตามปกติโดยไม่เป็นที่สงสัย ก่อนจะเตรียมตัวในห้องน้ำและเริ่มก่อเหตุโดยยิงประชาชนนักท่องเที่ยวในแต่ละชั้นไล่จากชั้นล่าง ขึ้นบน


เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการเกิดเหตุที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชนไม่น้อยเพราะเกิดในพื้นที่ใจกลางเมือง ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน ในช่วงเวลาที่คนมาใช้บริการศูนย์การค้า และที่สำคัญผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและครอบครองปืนที่หาซื้อได้ง่ายเหมือนซื้อของเล่น


ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ มีการสอบปากคำขั้นต้นมือปืนระบุว่าทำไปโดยไม่รู้ตัวได้ยินเสียงแว่วในหูสั่งว่าต้องทำ จึงทำให้เกิดปมว่าผู้ก่อเหตุรายนี้อาจมีอาการทางจิตจำเป็นต้องคัดกรองเป็นพิเศษ และอาจทำให้หลุดคดี


คลื่นความรุนแรงที่เกิดขึ้นนำมาสู่การพูดถึงหลักการเอาชีวิตรอด‘หนี ซ่อน สู้’ หรือ ‘Run Hide Fight’ อีกครั้งหลังจากที่เรื่องนี้เคยพูดถึงล่าสุดเมื่อตอนเหตุการณ์ศูนย์เด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู หลักการเอาชีวิตรอดนี้จำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่ากับใครก็ตามหรือกับสถานที่ใดเพราะเป็นการสอนว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันจะต้องทำตัวอย่างไรต้องหนี ต้องซ่อน หรือต้องสู้ให้รอดพ้นจากเหตุการณ์


ไม่เพียงเท่านั้นเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและมาตรการของรัฐบาลเรื่องอาวุธปืน มีการเพิ่มข้อกำหนด จำกัดการนำเข้าและถือครองอาวุธปืนทุกชนิดเพื่อเป็นการป้องกันเหตุไม่คาดคิดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น


แม้เรื่องนี้จะทำลายภาพลักษณ์ความปลอดภัยของประเทศแต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี ในการเข้มงวดอาวุธกับประชาชน ไม่ให้มีช่องโหว่อีกต่อไป


คดีที่มีการไล่ล่านานที่สุด -เสี่ยแป้ง นาโหนดบนเทือกเขาบรรทัด


เป็นเวลามากกว่า 1 เดือนที่ นายเชาวลิต ทองด้วง หรือเสี่ยแป้ง นาโหนดนักโทษชายคดีปล้นทรัพย์ ,ความผิดต่อเสรีภาพ และพ.ร.บ.อาวุธปืนสามารถหลบหนีจากการควบคุมตัวของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ระหว่างเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชวันที่ 22 ตุลาคมได้


ก่อนจะพูดถึงปฏิบัติการหลบหนีของนักโทษชายรายนี้และยุทธการจับกลุ่มของเจ้าหน้าที่ เราคงต้องแนะนำตัวเสี่ยแป้งตัวละครหลักของเรื่องดังกล่าวก่อน


เสี่ยแป้ง เป็นชาวตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2552-2562 มีความเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์หลายคดี ส่วนใหญ่เกิดในท้องที่จังหวัดพัทลุง ทั้งคดียาเสพติด คดีอาวุธปืน และคดีความรุนแรง เคยถูกจับกุมในคดีร่วมกับพวกยิงถล่มฆ่า อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช 


ก่อนการหลบหนีครั้งนี้จะเกิดเสี่ยแป้งได้ถูกย้ายตัวจากเรือนจำพัทลุงมาที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเนื่องด้วยพฤติการณ์ ‘เป็นผู้มีอิทธิพล’


หลังการหลบหนีเสี่ยแป้งเลือกพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา มีพื้นที่รวมประมาณ 791,847 ไร่เป็นแหล่งกบดาน


โดยวันที่ 8 พฤศจิกายน นับเป็นวันแรกที่การหลบหนีเข้าป่าของเสี่ยแป้งถูกเผยแพร่เนื่องจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ปะทะกับเสี่ยแป้งและผู้ติดตามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมายุทธการระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อตามหานักโทษรายนี้จึงเริ่มขึ้น


เวลาล่วงเลยไปมากกว่าหนึ่งเดือนจนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเสี่ยแป้งอาจจะเสียชีวิตแล้วในป่า หรืออาจจะหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ความจริงได้ปรากฏพร้อมกับข้อมูลชุดใหม่ที่เปิดเผยต่อสังคมว่าคดีที่เสี่ยแป้งถูกคัดสินให้รับโทษมีความผิดปกติเบื้องลึก เบื้องหลังมากกว่านั้น


โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน ในสื่อโซเชียลมีการส่งต่อคลิปบุคคลหน้าคล้ายเสี่ยแป้ง (ภายหลังได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นเสี่ยแป้งตัวจริง) ออกมาระบายความในใจสาเหตุที่หลบหนีเพราะตัวเขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมในคดี และการจับกุมของเขาถูกจัดฉากขึ้นโดยที่เขาไม่สมยอม


ส่วนผู้อื่นที่เป็นผู้ต้องหาร่วมกันในคดีไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือตำรวจต่างก็หลุดพ้นข้อกล่าวหา ซึ่งที่ผ่านมาตัวของเสี่ยแป้งพยายามเขียนจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและอีกกว่า 10 หน่วยงานเพื่อขอความเป็นธรรมหรือขอให้ฟื้นคดีใหม่แต่ก็ไม่เป็นผลจึงนำมาสู่แผนการหลบหนี(ตามคำกล่าวอ้างในคลิป)


เสี่ยแป้งได้ยื่น ข้อเสนอกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าหากนำตัวผู้ร่วมคดีดังกล่าวที่พ้นผิดไปกลับมาดำเนินการตัดสินคดีใหม่ได้ตัวเขาจะยอมมอบตัวแต่โดยดี


คลื่นใต้น้ำที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้หน่วยงานยุติธรรมหลายหน่วยต้องออกมาตั้งรับ ตั้งชุดตรวจสอบเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นใหม่เพราะแน่นอนว่าสังคมเองก็ตั้งคำถามว่าเรื่องที่เสี่ยแป้งพูดระบายออกมาเป็นความจริงหรือไม่ความไม่ยุติธรรมทำให้นักโทษรายนี้ต้องหลบหนีใช่หรือเปล่า


การหลบหนีของเสี่ยแป้ง นาโหนดครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการหลบหนีที่ใช้เวลาตามล่าจับกุมนานที่สุด และมีเบื้องหลังของการหลบหนีที่อาจเกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรมจนทำให้คดีนี้นับเป็นการไล่ล่าที่น่าจับตา เพราะมันไม่ใช่การหนีความผิด ของนักโทษชายคนหนึ่งเท่านั้นแต่คือการยื่นเงื่อนไขเพื่อรื้อฟื้นการสอบสวนความผิดใหม่ท้ังกระบวนการ





ภาพ TNNOnline  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง