นักวิจัยพบวิธี “ฟอกอากาศ” ให้โลก ทดลองดูดซับ “CO2” จากทะเล สู้โลกร้อน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศอังกฤษ กำลังทดลองวิธีการใหม่ในการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากน้ำทะเล ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจช่วยเร่งการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของโลก
การทดลองนี้มาจากแนวคิดที่ว่า มหาสมุทรเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศถึงประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากน้ำทะเล อาจจะทำให้มันสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยโครงการนี้มีชื่อว่า ซีเคียว (SeaCURE) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำให้สภาพน้ำทะเลเป็นกรด (acidifying) เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำให้กลับกลายเป็นก๊าซอีกครั้ง จากนั้นจึงดักจับ และนำไปจัดเก็บต่อไป และน้ำที่ผ่านการบำบัด ก็จะถูกปรับสมดุลด้วยสารที่เป็นด่าง ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ทะเล
แม้ว่าในปัจจุบันโครงการนี้จะมีขนาดจำกัด โดยสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียงประมาณ 100 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเที่ยวเดียวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่เป้าหมายหลักคือการประเมินความเป็นไปได้ในการขยายขนาดของวิธีนี้ เพื่อนำไปกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือนักวิทยาศาสตร์อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น แพลงก์ตอนพืชและหอย ต้องพึ่งพาคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำ สำหรับกระบวนการสำคัญต่าง ๆ เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสงและการสร้างเปลือกของพวกมัน
สำหรับโครงการนำร่อง ซีเคียว (SeaCURE) นี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร และดำเนินการที่ศูนย์ ซีไลฟ์ (SEA LIFE) ซึ่งทดสอบบริเวณชายฝั่งทางใต้ของประเทศอังกฤษ
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อดูผลการทดลองที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง แต่การขยายขนาดของโครงการนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งในแง่ของความต้องการพลังงานและต้นทุนที่สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยจะต้องแก้ไขปัญหาต่อไป