เมื่อสาวจีนแสร้งเป็นคนรวย ใช้ชีวิตหรู 21 วัน โดยไม่เสียเงินสักบาท จุดประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมจีน
ทดลองใช้ชีวิตหรูหรา 21 วัน
กว่า 21 วัน ที่นักศึกษาหญิงชาวกรุงปักกิ่ง 'โจว หยาฉี' อยู่ในห้องโถงของโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว โดยไม่เสียเงินสักแดง นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง แต่เป็นโปรเจ็กต์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจาก Central Academy of Fine Arts ในกรุงปักกิ่ง
โจว หยาฉี ถ่ายวิดีโอบันทึกประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อเดือนมิถุนายน และในเดือนกันยายน เธอได้เผยแพร่คลิปสั้น ๆ จากโครงการนี้ บน Weibo แต่ใครจะรู้ว่า เธออาจไม่พร้อมรับมือกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมา
คลิปบน Weibo ของโจว ปรากฏภาพเธอกำลังทานขนมชิมฟรีในห้างสรรพสินค้า, ได้นอนบนโซฟาสุดหรู และสวมใส่เสื้อผ้าราคาแพง ทั้งยังได้ลองสวมกำไลหยกในงานประมูล และได้ทำงานในออฟฟิศ IKEA
โจวเลือกสถานที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย เช่น ล็อบบี้โรงแรม และร้านอาหารในเครือ Haidilao โดยเธอจะสวมเสื้อผ้าหรูหราและใส่แหวน รวมถึงถือกระเป๋า Hermes แต่ทั้งหมดล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น
อภิสิทธิ์ของความร่ำรวย
โจว เขียนข้อความใน Weibo ระบุไว้ว่า โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัวที่เธออยากรู้มานาน เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า คนเราจะใช้ชีวิตอยู่กับ ”สินค้าฟุ่มเฟือย” ที่สังคมสร้างขึ้นได้หรือไม่
“จากประสบการณ์ที่ได้เจอมา วิธีแจกจ่ายของแพง ๆ พวกนี้น่าสนใจมาก เพราะพวกเขามักจะมอบให้กับคนที่ดูร่ำรวยอยู่แล้ว”
และว่า “คนพวกนี้สามารถนอนในล็อบบี้โรงแรมหรู, อาบน้ำในสนามบิน และใช้ชายหาดของโรงแรมได้ฟรี กินอาหารในงานแต่งงานหรือบุฟเฟ่ต์...แม้กระทั่งเพลิดเพลินกับของว่างและไวน์ในงานประมูล โดยไม่เสียเงินสักแดงเดียว”
“ฉันจึงแสร้งเป็นคนแบบนั้น และใช้ชีวิตอยู่กับ ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ พวกนี้” โจวเขียน
โปรเจ็กต์ที่จุดประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์
โปรเจ็กต์ของเธอได้รับกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ บางคนกล่าวว่า ประเด็นนี้ทำให้ฉุกคิดได้ ขณะที่บางคนเรียกการทดลองของเธอว่า “การเสแสร้งเพื่อให้ได้อาหารและเครื่องดื่มฟรี”
อีกคนแสดงความคิดเห็น เรื่องที่โจวแอบเข้าไปในห้องรับรอง First Class ของสนามบินว่า “เป็นการใช้ช่องโหว่ของนโยบาย”
หลายคนบอกว่า เธอ “แสร้งเป็นคนร่ำรวย” และ “ใช้ประโยชน์จากวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น” โดยคำว่า “สังคมจอมปลอม” ปรากฏในพาดหัวสื่อหลายสำนักที่กล่าวถึงโปรเจ็กต์ของโจว
สังคมเหลื่อมล้ำจนรัฐต้องเข้าควบคุม
นักศึกษารายนี้ พบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับกระแสต่อต้าน เกี่ยวกับลัทธิวัตถุนิยมและความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งในสังคมจีน เหตุเพราะช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังความเจริญของจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
และความเหลื่อมล้ำกลายเป็นข้อกังวลหลักอีกครั้ง หลังจีนปราบปรามการจ่ายค่าตอบแทนให้เหล่าคนดัง โดยต้องแจ้งราคาดังกล่าวให้รัฐบาลรับทราบ
ขณะที่รายได้ของดาราดังอย่าง 'เจิ้ง ส่วง' กลับต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมื่อเปิดเผยว่า เธอมีรายได้ในหนึ่งวัน มากกว่าคนที่ทำงานทั้งปีเสียอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า ขณะนี้จีนต้องก้าวไปสู่ระบบที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น, ดูแลผู้ที่ยังไม่มั่งคั่ง และระบุว่า ประเทศจีนจะหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน"
ตั้งตารอ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
โจว ตอบโต้นักวิจารณ์ โดยบอกว่า เธอไม่ใช่คนที่มั่งคั่ง แต่อาจจะดูแบบนั้นเพราะเตรียมตัวมานาน อีกอย่างคือ โปรเจ็กต์นี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเท่าเทียม หรือกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม
“ช่องว่างของความเจริญรุ่งเรือง และการแบ่งชนชั้นทางสังคมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม ชาวจีนจะพบกับความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ไม่ช้าก็เร็ว” ข้อความที่โจวเขียนไว้บน Weibo
บางคนยอมรับการทดลองของโจวในเชิงบวก โดยชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ของโจวนั้น แตกต่างจาก ซันเหมา (Sanmao) ตัวการ์ตูนเด็กเร่ร่อนที่มีชื่อเสียง ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1930 หลังมีบางคนเปรียบเทียบโจวกับการ์ตูนดังกล่าว
“พูดได้อย่างเต็มปากว่า เธออาศัยอยู่ในเมืองนี้อย่างอิสระ กว่า 21 วัน โดยอาศัยความอดทนและความเมตตาของสังคมการค้าที่มีต่อคนกระเป๋าหนัก” นิตยสาร Nanfengchuang ที่มีสำนักงานในกวางโจวกล่าว