รีเซต

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2566 ( 19:29 )
128
จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นอยู่ มีโอกาสที่ภาคเอกชนจะก้าวเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในไทยไปอยู่ตำแหน่งหนึ่งในผู้นำโลก โอกาสนี้ บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง


ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบอย่างมากในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ตั้งแต่ยุคที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 10 ของโลก ด้วยปริมาณ 1,883,515 คันในปี 2022 ด้วยความได้เปรียบนี้จึงสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของ EV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าแทบทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ จะมีอุตสาหกรรมบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์แบบเก่าที่จะได้รับผลกระทบด้านลบอยู่บ้าง แต่ก็สามารถที่จะนำประสบการณ์เดิมที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบ EV ได้ ทั้งนี้ประเทศไทยตั้งอยู่บนเป้าหมายนโยบาย 30@30 ของประเทศ ซึ่งเป็นแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero-Emission EVs) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030


หัวใจสำคัญในเป้าหมายของไทยคือ ต้องเปลี่ยนจากการเป็นฐานการผลิต ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้ได้ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายอยู่คือ การขาดบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านการวิจัยและการพัฒนา และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในการเป็นผู้นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงได้ร่วมมือกับแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ได้สานต่อความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institutions of Higher Learning หรือ IHL) และศูนย์ฝึกอาชีพ (Vocational Training Centre) เพื่อหารือถึงวิธีการในการร่วมกันพัฒนาโปรแกรม "ทักษะแห่งอนาคต หรือ Skills of the Future" อย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาโดยเน้นโครงการเป็นศูนย์กลาง (Project Centric) ให้แก่นักวิชาการในสถาบันเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพจากแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่างใช้แพลตฟอร์มนี้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการจำลองเสมือนจริง (Virtual Twin) และใช้บริหารจัดการวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์


ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ว่าสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาทั้งบุคลากรและงานวิจัย คือการร่วมมือกันของทั้งทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับที่ คุณ ฉี่ ฮ๊าว หวง หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ที่ชี้ว่าผู้นำต้องสามารถกำหนดทิศทางที่ถูกต้องได้ สิ่งสำคัญคือผู้นำต้องมีคือความเข้าใจในอุตสาหกรรม EV โดยได้เปรียบว่า EV เหมือนการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) ที่สามารถปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ได้ กับและสมาร์ตโฟนที่เน้นในเรื่องซอฟต์แวร์ เมื่อสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถที่กำหนดนโยบายที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้


ส่วนคุณ ไซม่อน อึง ผู้อำนวยการฝ่ายขายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ได้บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยของรถยนต์สันดาป ไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ซอฟต์แวร์ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาในส่วนนี้เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยได้ยกตัวอย่างของนวัตกรรมที่เน้นซอฟต์แวร์อย่างสมาร์ทโฟนพลิกโลกอย่างไอโฟน (iPhone) ที่มีการตัดคีย์บอร์ดโทรศัพท์ออกไป และพัฒนาขึ้นมาเป็นซอฟต์แวร์ได้ภายในหน้าจอเดียว รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเทสลา (Tesla) ที่มีเพียงหน้าจอก็สามารถควบคุมรถได้ทั้งคัน


คุณ เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ กล่าวว่า “เราเป็นพันธมิตรกับ EVAT เมื่อปีที่ผ่านมา และร่วมมือกันเชิญชวนสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันการเรียนรู้ในท้องถิ่นมาร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) แบบเดิมไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้วยทักษะที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของอุตสาหกรรม จากการร่วมมือกันอย่างบูรณาการระหว่างภาควิชาการและผู้มีส่วนได้เสียในระบบนิเวศทั้งหมด ทำให้เราไม่เพียงแต่ขยับลดช่องว่างด้านทักษะเท่านั้น แต่ยังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เวทีโลกในฐานะศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า”


ด้าน ผศ.ดร.กิตติ์ชนน เรืองจิรกิตติ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาบุคลากรเช่นกัน โดยบอกว่าต้องเริ่มต้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษาต้องเน้นการเรียนรู้จากอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพ และได้บอกว่าภายในปี 2070 อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 40,000 คน นอกจากนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีอีกหลายส่วนย่อยที่ควรได้รับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งหากเริ่มต้นเร็วก็สามารถคว้าโอกาสไว้ได้ รวมถึงผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าได้ด้วย อย่างเช่นในรถ EV 1 คัน มีส่วนประกอบย่อยจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่แบตเตอรี่เป็นหลัก หากมีหน่วยงานที่เข้ามาวิจัยและพัฒนาในส่วนอื่นด้วย ก็จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอีกมาก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง