รีเซต

บริษัท Tesla จดทะเบียนในไทย ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก

บริษัท Tesla จดทะเบียนในไทย ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2565 ( 11:22 )
260
บริษัท Tesla จดทะเบียนในไทย ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก
  1. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา วงการเทคโนโลยีของประเทศไทยต้องสั่นสะเทือน เนื่องจากข่าวการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทเทสลา (Tesla) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของเจ้าพ่อเทคโนโลยีนามกระฉ่อนโลก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มีเสียงร่ำลือกันไปทั่ว ว่าไทยอาจได้เป็นโรงงานผลิตรถของเทสลา เพื่อป้อนตลาดเอเชีย 
  2. สำหรับเทสลา ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรีลิเธียมไอออนรายแรก กลายเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่อาจนับเป็นการเปลี่ยนโลกก็ว่าได้ ส่วนอีลอน มัสก์ CEO ของบริษัท ก็ถูกยกย่องเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีแห่งยุค หรือว่ากันว่าคล้าย ๆ กับโทนี สตาร์ค เศรษฐีอัจฉริยะ ตัวละครสมมุติในหนังบล็อกบัสเตอร์ยอดนิยมของสหรัฐฯ 
  3. การวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2008 ถูกยกย่องให้เป็นวาระแห่งการเกิดใหม่ของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า และตั้งแต่ ปี 2009 จนถึงปีที่แล้ว รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลามากกว่า 1.9 ล้านคันถูกผลิตออกมาและวางจำหน่ายไปทั่วโลก เรียกว่า หากใครมีอินเทอร์เน็ตใช้ ก็คงต้องรู้จักเทสลา และอีลอน มัสก์ ไม่มากก็น้อย 
  4. และหากมีคำถามว่า จริง ๆ แล้วไทยเราจะกลายเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถของเทสลาจริงหรือ? TNN Tech จะขออธิบายให้ฟังดังนี้

  5. ทำไมเทสลาต้องขยายกำลังการผลิต
  6. เทสลากำลังพยายามขยายกำลังการผลิต โดยการไปเปิดตลาดใหม่ ๆ ในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ จะช่วยให้เทสลาสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นสองเท่า แก้ไขปัญหาสภาวะรถขาดตลาดในทั่วโลก 
  7. ปัจจุบัน เทสลามีโรงงานขนาดใหญ่ 4 แห่ง ส่วนอีก 2 แห่งตั้งอยู่นอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่พิเศษ (Giga Factory) ในเยอรมนี และจีนอย่างละ 1 แห่ง
  8. โดยโรงงานในเมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของบริษัท ตั้งขึ้นในปี 2010 ส่วนโรงงานขนาดใหญ่พิเศษ (Giga Factory) แห่งแรก ถูกตั้งขึ้นในปี 2016 ที่รัฐเนวาดา เป็นโรงงานที่ใช้เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
  9. ที่มาของรูปภาพ Mark Fremont
  10. โรงงานนอกสหรัฐฯ ที่น่าจับตา
  11. จีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเทสลา และเป็นภูมิภาคที่มียอดการขายเติบโตเร็วที่สุด และโรงงานผลิตนอกสหรัฐฯ ที่น่าจับตามอง และใกล้ตัวคนไทยเรามากที่สุด คงไม่พ้นโรงงาน ‘กิกะ เซี่ยงไฮ้’ (Giga Shanghai) ซึ่งผลิตรถได้ 473,078 คัน ในปีที่ผ่านมา 
  12. การก่อสร้างกิกะ เซี่ยงไฮ้ เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2018 สิ้นสุดในเวลาเกือบหนึ่งปี ขณะที่เทสลาเป็นเจ้าของโรงงานทั้งหมด เป็นโรงงานแรกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ไม่มีรัฐเป็นหุ้นส่วน 

  13. ที่มาของรูปภาพ CNN
  14. และตอนนี้เทสลากำลังเตรียมการขยายธุรกิจในจีน โดยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในชื่อ Model 2 ที่มีราคา 25,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 8.55 แสนบาท) โดย Model 2 จะเข้าสู่สายการผลิตเต็มรูปแบบช่วงปลายปี 2022 

    1. เปิดปัจจัยการเลือกที่ตั้งโรงงาน
    2. สำหรับเทสลานั้น มีปัจจัยสำคัญบางประการที่ใช้พิจารณาในการเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่ ๆ นั่นคือ

    1. อุตสาหกรรมยานยนต์ในเขตพื้นที่ที่เลือกนั้น จะช่วยสร้างวงจรการซื้อขาย และสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าอย่างชัดเจน
    2. อยู่ใกล้ท่าเรือซึ่งง่ายต่อการผลิตสำหรับส่งออกไปต่างประเทศ
    3. เงื่อนไขของทางการในการสร้างโรงงาน รวมถึงนโยบายการสนับสนุนและบริการ รวมถึงที่ดิน กองทุนสินเชื่อ และการอนุมัติจากรัฐบาล 

    1. จะเห็นได้ว่ายิ่งโรงงานใกล้กับตลาดท้องถิ่นมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อการผลิต ทั้งยังเอื้อต่อการควบคุมต้นทุนขององค์กรมากขึ้น 
    2. อย่างไรก็ตาม ปัญหาเบื้องหลังที่เกิดขึ้นคือ กำลังการผลิตของเทสลาเริ่มลดลง และในตลาดเอเชียนั้น เทสลา มีโรงงานเพียงแห่งเดียวในเซี่ยงไฮ้ และกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้ไม่เพียงแต่รองรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดอื่น ๆ ในยุโรปและเอเชียด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในยุโรปอีกด้วย ดังนั้นไม่แปลกที่เทสลาจะแสวงหาพื้นที่ใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน เพื่อขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น
  15. ที่ตั้งโรงงานใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในเอเชีย
  16. อินเดียเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขณะที่รัฐบาลอินเดียมุ่งมั่นจะให้พลังงานไฟฟ้าเป็นเป็นพลังงานหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ จึงเร่งแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก ขณะที่เทสลาในอดีต ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรเอกชนที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับรัฐบาลอินเดีย 
  17. แต่เทสลาเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอินเดียในระยะหลัง เนื่องจากอินเดียไม่มั่นใจในแผนการลงทุนของเทสลา จึงไม่ต้องการให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ได้ดุลการค้าเหนืออินเดียอย่างมาก 
  18. รัฐบาลอินเดียชี้แจงว่า อินเดียต้องการเห็นเม็ดเงินของเทสลา มาหมุนเวียนในประเทศ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้รถยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในทั่วโลกนี้ถูกขายในตลาดกำลังซื้อมหาศาลเช่นอินเดีย โดยที่อินเดียไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จึงเป็นไปได้ว่าโรงงานเทสลาในอินเดีย จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
  • ส่วนสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุด หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการลงทุนประเทศอินโดนีเซียเปิดเผยว่า เทสลาเลือกประเทศอินโดนีเซียเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หลังจากการพูดคุยเจรจาระหว่างประธานาธิบดีอินโดนีเซียโจโค วิโดโดและอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัทเทสลาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 



  • ที่มาของรูปภาพ Tesla
  • ข่าวการเจรจาต่อรองระหว่างบริษัทเทสลา และประเทศอินโดนีเซียมีออกมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2020 เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการใช้สร้างแบตเตอรี่สำหรับใช้งานในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้บริษัทเทสลายังให้ความสำคัญกับการผลิตแบตเตอรี่โดยใช้ต้นทุนที่น้อยกว่าคู่แข่ง จึงเป็นที่มาของแนวคิดการตั้งโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 


  • อย่างไรก็ตาม การยืนยันความร่วมมือก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอินโดนีเซียยังคงเป็นในระดับของการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศอินโดนีเซียและบริษัทเทสลา กระบวนการทั้งหมดยังคงต้องรอการลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2022 โดยในช่วงปลายปี 2022 อีลอน มัสก์มีกำหนดการเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียแต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดกำหนดการที่ชัดเจนออกมา


ไทยจะตกขบวนรถไหม


  • เพื่อตอบคำถามด้านบนที่เกริ่นไปว่า ไทยจะได้รับเลือกเป็นโรงงานผลิตไหม ต้องไปดูกันที่วัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัทในใบจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยของบริษัทเทสลา ซึ่งระบุไว้ว่า 
  • “เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง”  จากข้อมูลวัตถุประสงค์การตั้งบริษัท ไม่ได้มีการกล่าวถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด 
  • ทั้งนี้ อินโดนีเซียอาจได้เป็นประเทศเป้าหมายสำหรับการเปิดโรงงานผลิตรถ เพราะมีทรัพยากรแร่นิกเกิลที่สามารถใช้ในการผลิตแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนเป็นจำนวนมาก และหากมีการเปิดโรงงานรถไฟฟ้าในอินโดนีเซียแล้ว การจะมาเปิดโรงงานผลิตในไทย ก็อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และซ้ำซ้อน

  • อย่างไรก็ตาม แค่เพียงเทสลาก้าวเข้ามาเปิดตลาดจดทะเบียนในไทยอย่างเป็นทางการ ก็สร้างความตื่นเต้นกันในหมู่ผู้สนใจและนักลงทุนอย่างมาก เพราะกระแสการลงทุนและทิศทางธุรกิจในปัจจุบันนั้น อุตสาหกรรมพลังงานใหม่มักได้รับความสนใจราวกับยืนอยู่ในแสงไฟตลอดเวลา 
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่มีความเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งมีพื้นที่เชื่อมต่อทางบก ทางทะเล สามารถรับ-ส่งสินค้าและวัตถุดิบไปยังทั่วโลกได้ พร้อมเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ในทวีป เช่นจีน 


ที่มาของรูปภาพ Tesla


  • นอกจากนี้ไทยยังมีลมใต้ปีกเป็นแรงหนุนเสริม จากสถานะทางการเมือง ที่ไทยสามารถรักษาสมดุลได้ดี ทั้งจากฝั่งโลกตะวันออก และโลกตะวันตก ทำให้มีความเข้ากันได้กับทุกฝ่าย 
  • ส่วนปัจจัยอื่นที่เกื้อหนุน ก็ประกอบไปด้วยนโยบายจากยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เช่นนโยบาย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ ก็กำลังปรับตัวและดำเนินการตามกระแสดังกล่าว ที่ว่ากันว่าเป็นอนาคตแห่งการลงทุน 
  • โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ของเทสลา ตาม S-Curve ก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ยิ่งทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว จนกระทั่งกลายมาเป็นนโยบายการลดกำแพงภาษีรถไฟฟ้าลง 40-60% ในที่สุด ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เทสลา
  1. ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง หากเทสลามาลงทุนในไทยจริง
  2. หากมีบริษัทระดับโลกเช่นเทสลามาเปิดตลาดในไทย ก็จะยิ่งสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การเก็บภาษี และการส่งออก ได้มากขึ้น
  3. ตัวอย่างเช่น ในเซี่ยงไฮ้ โรงงานของเทสลาในจีนจะไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภคชาวจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและห่วงโซ่อุปทาน ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำด้วย เพราะการตั้งโรงงานผลิตของเทสลา ช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในประเทศ (R&D) ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน โรงงานเทสลาแห่งใหม่ในประเทศจีนก็จะผลิตแบตเตอรี่ และโรงงานอื่น ๆ ที่รับผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมทั้งหมดด้วยเช่นกัน

  • ที่มาของรูปภาพ Tesla
  • ไม่ว่าเทสลาจะตัดสินใจถูกหรือผิดในการเลือกที่ใดที่หนึ่งเป็นฐานการผลิต แต่การสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในพื้นที่นั่น ๆ ก็จะช่วยยกระดับการแข่งขัน ยิ่งทำให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องรุดหน้า และเป็นผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่ของราคา 
  • และการที่เทสลาเข้ามาในตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่นประเทศไทย ไม่เพียงแต่ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมในท้องถิ่น แต่ยังสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับ GDP สร้างเม็ดเงินกระจายสู่ชุมชน หรือท้องถิ่น และสร้างการจ้างงาน 
  1. ขณะที่ภาครัฐของไทยเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้ตกขบวนความตื่นตัวนี้ ด้วยการเร่งสร้างเสริม ยกระดับทรัพยากรบุคคลในประเทศ และพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับคลื่นลูกใหม่ ๆ ของ S-Curve ที่จะเข้ามาในไทย ก็จะยิ่งทำให้ไทยมีโอกาสในการเป็นเป้าหมายที่เนื้อหอมมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับบริษัทผู้อื่น ๆ นอกเหนือจากเทสลา ประจวบเหมาะกับที่ไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด พร้อมที่จะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งทำให้อนาคตแวดวงยานยนต์ไฟฟ้าไทยยิ่งดูคึกคักมากขึ้นไปอีก

  2. ที่มาของข้อมูล insideevs.com licarco.com electrek.co ecovis.com itax.in.th
  3. ที่มาของรูปภาพ Tesla

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง