เปรูออกแบบ “อิฐทางเท้าคนตาบอด” ใช้ไม้เท้าแตะ รู้ได้ทันทีว่ายืนอยู่ที่ไหน
ประเทศเปรูยกระดับการใช้งานทางเท้าคนตาบอด ด้วยการออกแบบแผ่นอิฐปูทางเท้าแบบใหม่ มาพร้อมสัญลักษณ์ช่วยบอกสถานที่สำคัญต่าง ๆ ปูทางให้ผู้พิการทางสายตาเดินไปยังสถานที่ที่ต้องการได้อย่างอิสระมากขึ้น
โครงการพัฒนาอิฐปูทางเท้าแบบใหม่นี้ มีชื่อว่า ไซต์วอล์ค (SightWalks) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ซีเมนต์โต โซล (Cemento Sol) เทศบาลเขต มิราฟลอเรส (Miraflores) เขตหนึ่งของจังหวัดลิมาในประเทศเปรู และบริษัทโฆษณา เซอร์คัส เกรย์ เปรู (Circus Grey Peru)
ทีมผู้พัฒนาได้ออกแบบแผ่นอิฐสัมผัส ที่มีเครื่องหมายนูนขึ้นมาเป็นเส้นอย่างชัดเจน เครื่องหมายเหล่านี้จะเป็นสัญลักษณ์ ขีดแนวขวาง และขีดเส้นตั้ง โดยขีดแนวขวางหมายถึงการเตือนให้ผู้ใช้งาน เตรียมอ่านขีดบอกสถานที่ และขีดเส้นตั้งจะหมายถึงสถานที่ ทั้งนี้จำนวนขีดเส้นตั้ง จะแทนสถานที่ต่างกันไป เช่น หนึ่งขีด - หมายถึงร้านอาหาร สองขีด - คือธนาคาร สามขีด - คือร้านขายของชำ เป็นต้น
และในการใช้งานจริง เมื่อผู้พิการทางสายตา ใช้ไม้เท้าเดินมาตามเส้นทางจนถึงตำแหน่งของอิฐบอกสถานที่สำคัญต่าง ๆ พวกเขาก็จะสามารถตีความสัญลักษณ์บนอิฐ ผ่านการใช้ไม้เท้าส้มผัส เพื่อนับเส้น และเดินไปตามเส้นทางที่ต้องการได้ โดยบริษัทได้มีการสอนให้ผู้พิการทางสายตาในเมืองนำร่องของโครงการ เรียนรู้การอ่านสัญลักษณ์เหล่านี้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้ คือมันสามารถนำไปใช้กับเส้นทางเดินเท้าของผู้พิการที่มีอยู่แล้วในเมืองได้ เพียงแค่ถอดแผ่นอิฐบอกทางตัวเก่าออกไม่กี่แผ่น แล้วใส่แผ่นอิฐตัวใหม่ลงไป ทำให้ไม่จำเป็นต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด
สำหรับความบกพร่องทางสายตา จัดเป็นหนึ่งในความพิการที่พบบ่อยที่สุดในเปรู โครงการนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้พิการทางสายตา ใช้งานทางเดินเท้าได้สะดวกขึ้น โดยได้ติดตั้งอิฐบอกทางแบบใหม่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 75,000 ตารางเมตร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อยู่อาศัยที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นกว่า 500,000 คนในเมืองแห่งนี้
นอกจากนี้ ทางผู้พัฒนายังได้เผยแพร่ผลงานการออกแบบ พร้อมรายละเอียดแบบโอเพ่นซอร์ส ผ่านหน้าเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้บรรดาเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก สามารถนำไปใช้งานในเขตพื้นที่ของตนเองได้อย่างแพร่หลายอีกด้วย
ข้อมูลจาก designtaxi, designboom