รีเซต

อย่าหลงเชื่อ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ปลอมเป็น 191 เช็กกลลวง-จุดสังเกต

อย่าหลงเชื่อ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ปลอมเป็น 191 เช็กกลลวง-จุดสังเกต
TNN ช่อง16
29 พฤศจิกายน 2566 ( 15:19 )
45

ตำรวจเตือนภัยออนไลน์ อย่าหลงเชื่อ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ปลอมเป็น 191 เช็กกลลวง-จุดสังเกต ได้ที่นี่


พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์เสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ “พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ห่วงใยพี่น้องประชาชน


โดยในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบภัยออนไลน์ พบว่ามีคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างใช้หมายเลขโทรศัพท์ แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย 191 โทรศัพท์หลอกลวงพี่น้องประชาชน สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากมาย


คนร้ายมี “กลลวง” วิธีการหลอกลวงเหยื่อ ดังนี้


1. คนร้ายโทรหาเหยื่อโดยปลอมเป็นเบอร์ 191 แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่ามีคนใช้บัญชีของเหยื่อในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย และให้แอดไลน์ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี หรือ สภ. สน.อื่น ๆ เพื่อพูดคุย และตรวจสอบเพิ่มเติม


2. เมื่อเหยื่อแอดไลน์แล้ว คนร้ายจะส่งเอกสารต่าง ๆ เช่น หมายจับ หมายเรียก รูปผู้ต้องหา ฯลฯ ข่มขู่ให้เหยื่อเกิดความกลัว และให้เหยื่อโอนเงินเข้าไปเพื่อตรวจสอบ ถ้าไม่ทำจะดำเนินคดี และเข้าจับกุม


3. เหยื่อกลัวจึงโอนเงินให้คนร้ายตามบัญชีที่คนร้ายบอก


4. เมื่อได้เงินจากเหยื่อแล้ว คนร้ายก็เงียบหาย หนีลอยนวลไป


จุดสังเกต


1. แอบอ้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ ศาล ส่งบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ปลอม หรือหนังสือของทางราชการปลอม ข่มขู่เพื่อให้เกิดความกลัว แล้วให้โอนเงินให้คนร้ายตรวจสอบ


2. อ้างสถานที่เกิดเหตุไกลจากบ้านหรือที่อยู่เหยื่อ เพื่อให้เหยื่อไม่อยากเดินทางไปสถานีตำรวจ และต้องการความสะดวกในการติดต่อทางอื่น


3. บัญชีที่รับโอนเงินเป็นบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล แทนที่จะเป็นบัญชีในชื่อองค์กรหรือหน่วยงาน


4. เบอร์โทรศัพท์ที่คนร้ายแอบอ้างหรือปลอมขึ้นมา มีใช้งานจริง


ข้อควรระวัง และแนวทางป้องกัน


1. จงมีสติ และพึงระลึกเสมอว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนโทรไปหา เมื่อเรากระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด


2. ทางรัฐไม่มีนโยบายส่งหรือแสดงหมายใด ๆ ทางช่องทางออนไลน์


3. หากไม่แน่ใจ ให้โทรไปสอบถามข้อมูลจริงจาก 191


ทั้งนี้ เห็นได้ว่าคนร้ายจะเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงให้ทำภารกิจไปเรื่อย ๆ จึงไม่ควร กดลิงก์แปลกปลอม หรือ ติดตั้งแอปพลิเคชันที่คนร้ายหลอกให้ติดตั้ง


กรณีมีข้อสงสัยควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับสายด่วนของหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง หรือไปติดต่อหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยตนเอง และที่สำคัญหากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น


สอบถาม แจ้งเหตุ แจ้งระงับ อายัดเงิน โทร.สายด่วน 1441 ศูนย์ AOC 144 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com





ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง