รีเซต

การชนของ DART ทิ้งเศษซากยาวกว่า 6,000 ไมล์

การชนของ DART ทิ้งเศษซากยาวกว่า 6,000 ไมล์
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2565 ( 17:59 )
58
การชนของ DART ทิ้งเศษซากยาวกว่า 6,000 ไมล์

นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินของซอลร์ (Southern Astrophysical Research หรือ SOAR) ในประเทศชิลี สังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส (Dimorphos) หลังถูกชนโดยยานอวกาศดาร์ท (DART) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2022 


ภารกิจเพื่อปกป้องโลก 

โดยภารกิจดาร์ท (DART Mission) เป็นภารกิจทดสอบเบี่ยงเบนเส้นทางวงโคจรดาวเคราะห์น้อยของนาซา (NASA) เพื่อนำข้อมูลและวิธีการที่ได้มาปรับใช้สำหรับปกป้องโลกจากการถูกพุ่งชนด้วยดาวเคราะห์น้อย เป็นภารกิจที่มีมูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท 


ทางยาวของเศษซากคล้ายดาวหาง 

ซึ่งพบว่าการชนของยานอวกาศดาร์ทส่งผลให้เกิดเศษซากเป็นทางยาวกว่า 6,000 ไมล์ หรือประมาณ 10,000 กิโลเมตร โดยมีปัจจัยร่วมกับแรงดันจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่ได้ผลักเศษซากออกไป ทำให้เกิดเป็นทางยาวคล้ายทางยาวของดาวหาง

โดยนักดาราศาสตร์ให้ความเห็นว่าทางยาวนี้มีแนวโน้มจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดที่กระแสฝุ่นแทบจะมองไม่เห็นจากอนุภาคปกติที่ลอยอยู่ในระบบสุริยะ


“เมื่อถึงจุดนั้น สสารก็จะเหมือนกับฝุ่นอื่นๆ ที่ลอยอยู่รอบระบบสุริยะ” - แมททิว ไนท์ (Matthew Knight) จากห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพเรือสหรัฐ ฯ (U.S. Naval Research Laboratory) กล่าว


อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อโลก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัสถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายของภารกิจดาร์ทด้วยระยะทางที่ไกลจากโลกมากพอ ทำให้ไม่เกิดอันตรายกับโลก และเป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป ทำให้สามารถส่งยานอวกาศไปได้ในเวลาที่ไม่นานจนเกินไป


หลังจากนี้นักดาราศาสตร์จะรวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในเครือข่าย พร้อมด้วยกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดและชนิดวัสดุของเศษซากดังกล่าว รวมถึงผลกระทบอื่น ๆ ของการชนที่เกิดกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส


ข้อมูลจาก news.yahoo.com

ภาพจาก noirlab.edu

ข่าวที่เกี่ยวข้อง