รีเซต

'นกน้อย อุไรพร' นำ 22 คณะหมอลำ แถลงห้ามละเมิดลิขสิทธิ์ ใครฝ่าฝืนดำเนินการถึงที่สุด!

'นกน้อย อุไรพร' นำ 22 คณะหมอลำ แถลงห้ามละเมิดลิขสิทธิ์ ใครฝ่าฝืนดำเนินการถึงที่สุด!
มติชน
5 สิงหาคม 2563 ( 18:42 )
274

“นกน้อย อุไรพร” นำ 22 คณะหมอลำชื่อดัง ออกแถลงการณ์ห้ามผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์โดยการเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลงลงในสื่อโซเชียลมีเดียทั้งเชิงพาณิชย์และสร้างความเสียหาย หากใครฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

 

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. พร้อมด้วย ชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน 22 คณะหมอลำชื่อดัง นำโดยนางอุไร ฉิมหลวง หรือ นกน้อย อุไรพร ผู้บริหารหมอลำคณะเสียงอีสาน และประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน ร่วมออกแถลงการณ์เรื่องการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของคณะหมอลำในชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน เนื่องจากปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง FACEBOOK, LINE, YOUTUBE และสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ มีบทบาทในการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีระบบการดำเนินงานธุรกิจและสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวซึ่งสร้างมูลค่าทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก และผลงานของชมรมคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ทางชมรมฯเป็นผู้ทรงสิทธิ์ทางกฎหมาย จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนและแฟนเพลงทุกคนได้ดำเนินการตามแถลงการณ์ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.อนุญาตให้เผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ภาพนิ่งศิลปินหรือการแสดงหน้าเวทีหรือผลงานอันมีสิทธิ์อื่นๆที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับศิลปินและทางคณะหมอลำ แต่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่งของศิลปิน การแสดงของวงหมอลำ หรือกิจกรรมอื่นใดของวงหมอลำที่ไม่เหมาะสม โดยที่ภาพดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเสียหายกับศิลปินหรือวงหมอลำ

 

2.อนุญาตให้เผยแพร่ คลิปวีดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาทีในสื่อออนไลน์ที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเป็นคลิปวีดีโอที่ไม่ก่อความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับทางศิลปินและคณะหมอลำ หากผู้ใดมีความประสงค์จะเผยแพร่ ผลงานการแสดงหน้าเวทีหรือกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวกับการแสดงของคณะหมอลำที่เป็นสมาชิกในภาคีเครือข่ายหมอลำเรื่องต่อกลอนในรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวในสื่อออนไลน์ใดๆ เช่น YUOTUBE FACEBOOK และ LINE เป็นต้น ที่มีความยาวเกิน 5 นาที เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตน จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่จากคณะหมอลำนั้นๆหรือกรณีที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้

 

3.อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสด(Live) การแสดงของวงหมอลำหรือเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทาง FACEBOOK LINE YOUTUBE เพจส่วนตัว หรือสื่อออนไลน์อื่นๆได้ ในความยาวไม่เกิน 15 นาที แต่ต้องมีใช่การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในเชิงพาณิชย์และต้องเป็นเนื้อหาการถ่ายทอดสดที่ไม่ก่อความเสียหายให้กับศิลปินและคณะหมอลำ หากมีความประสงค์จะถ่ายทอดสด (Live) ที่เผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ในช่องทาง FACEBOOK LINE YOUTUBE หรือสื่อออนไลน์อื่นๆเกิน 15 นาที จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางคณะหมอลำในฐานะผู้ทรงสิทธิ์เท่านั้น

 

4.ในการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่จะรับงานโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โดยการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือทำซ้ำการแสดงของคณะหมอลำผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น FACEBOOK LINE YOUTUBE เป็นต้น ต้องได้รับการยินยอมจากคณะหมอลำนั้นๆเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทางภาคีจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

 

รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า ในยุคที่กระบวนการสื่อสารทำได้อย่างง่ายดายและสะดวกรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ใช้ในการสื่อสารเรื่องราวทั่วไป ใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ช่วยย่อโลกให้มีขนาดเล็กลงสามารถสื่อสารกันได้อย่างไร้พรมแดน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสื่อสารวัฒนธรรมท้องถิ่นในโลกออนไลน์อีกด้วย”วงหมอลำ” คำนี้คนอีสานคงรู้จักกันดี หมอลำ เป็นศิลปะการขับร้องเพลงพื้นบ้านและการแสดงพื้นบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความหมาย 2 อย่าง อย่างแรก หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในการขับลำนำ หรือการขับร้อง โดยการท่องจำจากกลอนลำหรือบทกลอน ที่มีผู้ประพันธ์ขึ้นเป็นภาษาถิ่นอีสาน อย่างที่สอง หมายถึงศิลปะการแสดงพื้นเมือง หรือมหรสพอย่างหนึ่งของชาวอีสาน หรือการเปล่งเสียงขับร้องก็ได้ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

“การแสดงที่ให้เราได้ชื่นชม ได้เห็นตามงานต่าง ๆ นั้น ล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาที่ทรงคุณค่าโดยเฉพาะในปัจจุบันหมอลำถือว่าเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลจึงทำให้ศิลปินหมอลำได้ตระหนักและให้ความสำคัญปกป้องมรดกภูมิปัญญาของศิลปะการแสดงหมอลำให้คงอยู่คู่แผ่นดินอีสานมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อว่าการแถลงข่าวการถูกละเมิดสิทธิ์การบันทึกภาพนิ่งหรือภาพวีดีทัศน์การแสดงหมอลำ ในวันนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ภาคีเครือข่ายหมอลำเรื่องต่อกลอนทั้ง 22 คณะในภาคอีสานจะร่วมกันรักษาสิทธิ์ในการรักษามรดกภูมิปัญญาศิลปะการแสดงหมอลำให้คงอยู่สืบต่อ” รศ.ดร.นิยม กล่าว

 

นกน้อย อุไรพร กล่าวว่า ภายหลังจากมีการร่วมพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งคณะหมอลำในชมรมทั้ง 22 คณะ และทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่าผลงานต่างๆ ที่ทางคณะหมอลำได้ประพันธ์กลอนลำต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสติปัญญา ความวิริยะ อุตสาหะ และการระดมความคิดของกลุ่มคนซึ่งสั่งสมประสบการณ์และเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นที่เป็นเวลายาวนาน กระทั่งมีสื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างมากทำให้เกิดการสร้างธุรกิจผ่านสื่อสั่งคมออนไลน์ต่างๆ ให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิ์ประกอบด้วยศิลปินและคณะหมอ จึงได้ออกแถลงการณ์ครั้งนี้ขึ้นมา

 

“การออกแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ปิดกั้นแฟนเพลง หรือไม่อนุญาตแต่อย่างใด แต่ขอให้ปฏิบัติตามทั้ง4ข้อ เพื่อไม่ให้นำผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาไปแสวงหาผลประโยชน์ และเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อทางคณะหมอลำหรือตัวศิลปิน เพราะหลายครั้งสื่อโซเชียลถ่ายภาพนิ่ง คลิป หรือถ่ายทอดสด อาจมีการเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมต่างๆ จนทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศิลปินนั้นๆและคณะหมอลำ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาคณะหมอลำประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเบื้อไวรัสโควิด-19 หารแสดงต่างๆไม่สามารถจัดขึ้นได้ และไม่มีรายได้เข้ามาสู่คณะหมอลำซึ่งมีสมาชิกแต่ละคณะจำนวนมากก็ได้รับความเดือดร้อน แถลงการณ์ฉบับนี้ก็ยังเป็นรักษาสิทธิ์ของตัวศิลปินและคณะหมอลำเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตต่อไป”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง