รีเซต

"เฉลิมชัย"เผยจีนจ่อตั้งโรงงานถุงมือยางในรับเบอร์วัลเลย์ จ.นครศรีธรรมราช

"เฉลิมชัย"เผยจีนจ่อตั้งโรงงานถุงมือยางในรับเบอร์วัลเลย์ จ.นครศรีธรรมราช
มติชน
27 มิถุนายน 2563 ( 00:04 )
114
"เฉลิมชัย"เผยจีนจ่อตั้งโรงงานถุงมือยางในรับเบอร์วัลเลย์ จ.นครศรีธรรมราช

“เฉลิมชัย”เผยจีนจ่อตั้งโรงงานถุงมือยางในรับเบอร์วัลเลย์ จ.นครศรีธรรมราช

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เริ่มมีนักลงทุนสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยล่าสุดจีนสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง เป็นพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บนพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,800 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างหารือเรื่องรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน โดยเบื้องต้น รูปแบบจะกำหนดเป็นรัฐวิสาหกิจ 51% และเอกชน 49% และใช้วัตถุดิบน้ำยางพาราในประเทศ

 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังอยู่ระหว่างติดตามและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางยางพาราของประเทศ (รับเบอร์วัลเลย์) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัฒกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มุ่งเน้นให้ใช้วัตุดิบ สินค้าเกษตรในประเทศให้มากที่สุด นอกจากสนับสนุนให้ใช้น้ำยางจากเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และรองรับสถานการณ์หลังผลผลิตยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะลงไปสำรวจพื้นที่และกำหนดแผนการก่อสร้างต่อไปซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้เร็วๆ นี้

 

“ยอมรับว่าช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมากระทบยางในประเทศมากเพราะตลาดหลักคือจีนที่ชะลอรับซื้อ ส่งผลให้โรงงานยุติการผลิตไปโดยปริยาย แต่ขณะนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว ดังนั้นเรากำลังหาทำเลหากสามารถดึงในนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเปิดโรงงานในไทยได้เร็ว และบีโอไอปลดล็อกเงื่อนไขได้จะเป็นโอกาสของไทยอย่างมาก ตอนนี้เริ่มมีหลายประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเรื่องยางพาราในประเทศไทยเยอะมาก โดยเฉพาะจีน ในกลุ่มวิสาหกิจจีน ที่คาดว่าจะลงทุนพื้นที่นี้แน่นอน” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ กยท.เร่งรัดแนวทางระบายยางในสต๊อกรัฐ รวม 104,000 ตัน เนื่องจากแต่ละปีสูญเสียงบประมาณในการเช่าโกดังจำนวนมาก ดังนั้นจึงสั่งการให้กยท.พิจารณาความเหมาะสมของราคายางในตลาดเพื่อระบายยางให้มากที่สุด รวมถึงการนำยางในสต๊อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง