รีเซต

คนไทยคนแรกถึงใต้สุดของโลก ภารกิจ "ไอซ์คิวบ์" -"ช้างแวน"

คนไทยคนแรกถึงใต้สุดของโลก ภารกิจ "ไอซ์คิวบ์" -"ช้างแวน"
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2567 ( 00:12 )
74

      นักวิจัยไทยตามโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มดำเนินการวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ตามแผนการวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว  โดยร่วมกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ กลุ่มวิจัยชั้นนำของโลก มีนักวิจัยรวมกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน เพื่อทำพันธกิจในโครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำที่เข้ามายังโลก  



    โดย เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกไปปฏิบัติงาน ได้เดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ C-130 เฮอร์คิวลิส ไปถึงนิวซีแลนด์ เมื่อ 2 ธ.ค.66 จากนั้นเดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวป์ ที่ตั้งอยู่ ณ ละติจูด 90 องศาใต้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็ง ที่ IceCube Lab (ICL) เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งช่วงแรก เจออุปสรรคเนื่องจากเจาะเข้าไปเจอสายไฟ และเศษไม้ ก่อนจะพักและทำการเจาะในสัปดาห์ต่อไป  โดยวางแผนจะเพิ่มเส้นลวดตรงบริเวณแกนกลางของสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์อีก 7 เส้น  ซึ่งจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน  โดยในปี 2567 นี้จะเน้น การขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และ ทดสอบเครื่องมือ ซึ่งจะดำเนินการเจาะอย่างเป็นทางการ เพื่อติดตั้งเครื่องมือ ทดสอบ นิวทริโน ในปี 2668-2569


 

    สำหรับสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณขั้วโลกใต้ใจกลางทวีปแอนตาร์กติกา ลึกเข้าไปจากขอบทวีปกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่มีละติจูด 90 องศาใต้ มีความสูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ราว ๆ 300 เมตร) สามารถเดินทางไปไดเเฉพาะช่วงฤดูร้อนเท่านั้นซึ่งมีอุณหภูมิ -27 องศาเซลเซียส



    ขณะที่ นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ผู้ช่วยวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางไปควบคุมการทำงานของ “ช้างแวน”(ChangVan) เครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ ซึ่งได้ติดตั้งและบรรทุกไปบนเรือตัดน้ำแข็งเอราออนของสาธารณรัฐเกาหลี   โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา  “ช้างแวน” ได้เริ่มตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนตามเส้นทางจากเมืองไครช์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ ไปยังสถานีวิจัยจางโบโก บนทวีปแอนตาร์กติกา และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี ในราวเดือนเมษายน 2567



    โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล เป็นหัวหน้าโครงการ โดยนอกจากจะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก  



   นอกจากพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช.-สวทช. กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (องค์การมหาชน) โดยความร่วมมือกับ US National Science Foundation (NSF) และ Wisconsin IceCube Particle Astrophysics Center (WIPAC) ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Korea Polar Research Institute (KOPRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี 









ข้อมูลและภาพ : กระทรวงอว. , มช.

เรียบเรียงโดย   : นัฐทวี ชลีโสภณ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง