น้ำท่วมโลกไม่เกินจริง? ในวันที่นักวิทยาศาสตร์ฟันธงแล้ว มนุษย์ยับยั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลายไม่ได้

น้ำท่วมโลก คำนี้อาจไม่เกินจริง เพราะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า มันสายไปแล้วที่จะยับยั้งไม่ให้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
จนมีความเป็นไปได้ว่า แผ่นน้ำแข็งจะละลาย ปลดปล่อยมวลน้ำมหาศาลถึง 740,000 ล้านตันต่อปี สองเท่าจากที่เป็นอยู่
CNN รายงานอ้างอิง กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ศึกษาขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ เพื่อดูว่า แผ่นน้ำแข็งแถบนี้ จะรอดจากวิกฤตโลกเดือดไปได้อย่างไร
สิ่งที่พวกเขาค้นพบ คือ มันสายไปแล้ว และแม้มนุษยชาติจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนอุณหภูมิโลกพุ่งไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่นั่นก็แทบไม่เพียงพออีกต่อไป
ซ้ำร้าย การคาดการณ์ตอนนี้ คือ โลกจะร้อนขึ้น 2.9 องศาเซลเซียสภายในปี 2100
นั่นหมายความว่า แผ่นน้ำแข็งจะละลายเร็วขึ้น ปล่อยมวลน้ำมากขึ้น ลองจินตนาการว่า หากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ ละลายหมด นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 213 ฟุต หรือ 64 เมตรเลยทีเดียว นั่นคงเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่าน้ำท่วมโลกอย่างแท้จริง
แต่ความเป็นจริงคือ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.4 นิ้วต่อปี ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น นั่นหมายความว่า 100 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้น 40 นิ้ว
ปัญหาคือ ประชากรโลก 230 ล้านคน อาศัยอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1 เมตร พวกเขาก็ต้องอพยพย้ายถิ่นห่างแนวชายฝั่งมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
เราจะยับยั้งมันได้ไหม นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ บอกกับ CNN ว่า ทำได้ หากยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1 องศาเซลเซียส ต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมหาศาล และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ที่ทำได้ คงเป็นเพียงแค่หวังให้ระดับน้ำทะเลขึ้นช้า ๆ และเสถียร เพื่อที่มนุษย์จะได้ตั้งรับได้ทันท่วงที