รีเซต

พบดาวเคราะห์คล้ายโลก หนึ่งในตัวเลือกดีสุดที่อาจเจอน้ำและอาศัยได้

พบดาวเคราะห์คล้ายโลก หนึ่งในตัวเลือกดีสุดที่อาจเจอน้ำและอาศัยได้
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2567 ( 12:18 )
60
พบดาวเคราะห์คล้ายโลก หนึ่งในตัวเลือกดีสุดที่อาจเจอน้ำและอาศัยได้

ทีมนักดาราศาสตร์จากประเทศแคนาดา พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล โคจรอยู่ในโซนเอื้ออาศัย (Habitable Zone) ที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ และอาจมีน้ำบนดาวเคราะห์ได้ ทำให้มันอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุด ในการเป็นดวงดาวที่สนับสนุนการมีชีวิตได้


ดาวดวงนี้ชื่อว่าแอลเอชเอส 1140 บี (LHS 1140 b) ขนาดใหญ่กว่าโลกแต่เล็กกว่าดาวเนปจูน คาดว่ามีองค์ประกอบเป็นหินและน้ำ อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 48 ปีแสงในกลุ่มดาวซีตัส (Constellation Cetus) โคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัยที่เรียกว่า โซนโกลดิล็อกส์ (Goldilocks Zone) โดยโคจรรอบดาวแคระแดงมวลต่ำที่มีขนาดประมาณ 1 ใน 5 ของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา การอาศัยอยู่ในเขตเอื้ออาศัย อาจทำให้มันมีอุณหภูมิที่เหมาะสม และทำให้มีน้ำอยู่ในดาวเคราะห์ได้


การศึกษานี้นำโดยทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล (Université de Montréal) ประเทศแคนาดา ได้รวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ในช่วงเดือนธันวาคม 2023 จากนั้นรวมเข้ากับข้อมูลจากกล้องอื่น ๆ เช่น สปิตเซอร์ (Spitzer) ฮับเบิล (Hubble) และ เทสส์ (TESS) พบว่า LHS 1140 b มีความหนาแน่นน้อยกว่าที่คาดไว้หากเป็นดาวเคราะห์หิน จึงคาดว่าร้อยละ 10 - 20 เป็นมวลจากน้ำ ทำให้ดาวดวงนี้อาจมีลักษณะคล้ายก้อนหิมะ คือพื้นผิวดาวปกคลุมด้วยน้ำแข็ง 


นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังได้วิเคราะห์ดาวเคราะห์ดังกล่าว คาดว่าบรรยากาศของ LHS 1140 b ประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน ซึ่งคล้ายคลึงกับองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศของโลกของเราซึ่งมีไนโตรเจนประมาณร้อยละ 78 และหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่าชั้นบรรยากาศอาจจะมีความหนาแน่นเพียงพอที่จะกักเก็บความร้อนภายในหรือรักษาสภาพอากาศให้มีความเสถียร ซึ่งส่งผลให้อาจมีน้ำบนดาวเคราะห์ได้อแต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันเรื่ององค์ประกอบของชั้นบรรยากาศนี้


ดังนั้น ด้วยปัจจัยทั้งหมด นักดาราศาสตร์สร้างแบบจำลองขึ้นเพื่ออธิบาย LHS 1140 b ว่า เป็นดาวเคราะห์ที่มีบรรยากาศคล้ายโลก อาจจะเป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และมีมหาสมุทรที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4,000 กิโลเมตร หรือก็คือประมาณครึ่งของของมหาสมุทรแอตแลนติก และอุณหภูมิของน้ำมหาสมุทรก็ประมาณ 20 องศาเซลเซียส


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาดาว LHS 1140 b เพิ่มเติม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดาวดวงนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของนักดาราศาสตร์ ทั้งอุณหภูมิ สภาพอากาศของดวงดาวที่อาจเป็นไปได้ โอกาสที่จะพบน้ำ รวมถึงยังไม่ได้อยู่ไกลโลกเกินไปนัก ทำให้ LHS 1140 b นับว่าเป็นดาวเคราะห์อีกหนึ่งดวงที่ดีที่สุดที่มีโอกาสจะพบน้ำและสามารถอาศัยอยู่ได้ 


การศึกษานี้ ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters ในสัปดาห์นี้ แต่สามารถอ่านร่างงานวิจัยที่จะตีพิมพ์ได้แล้วผ่านเว็บไซต์ Arxiv.org


ที่มาข้อมูPhys, InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ Université de Montréal

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง