รีเซต

จีนประณาม ‘ออคุส’ ชี้ทำลายสันติภาพในภูมิภาค ยุโรปไม่ปลื้ม มะกันไม่เคยหารือ

จีนประณาม ‘ออคุส’ ชี้ทำลายสันติภาพในภูมิภาค ยุโรปไม่ปลื้ม มะกันไม่เคยหารือ
มติชน
17 กันยายน 2564 ( 07:34 )
32

หลังสหรัฐอเมริกาประกาศจับมือกับอังกฤษและออสเตรเลียจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารในภูมิภาคเอเชียที่เรียกว่า ‘ออคุส’ ซึ่งหนึ่งในความร่วมมือคือการพัฒนาเรือดำน้ำของออสเตรเลียนิวเคลียร์ให้กลายเป็นกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์จู่โจมติดตั้งขีปนาวุธโทมาฮอว์ก ทำให้เป็นการรวมตัวที่ชัดเจนว่ามีเจตนาที่จะพุ่งเป้าไปยังการลดทอนอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

 

 

นายจ้าว ลี่เจียง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาประณามการกระทำดังกล่าว โดยชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง และแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่คับแคบ ตั้งอยู่บนทัศนคติที่ย้อนกลับไปยังยุคสงครามเย็นอันล้าสมัย พร้อมกับเตือนทั้งสามประเทศว่ากำลังจะทำร้ายผลประโยชน์ของตนเอง

 

 

“พันธมิตรดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำลายสันติภาพในภูมิภาคอย่างร้ายแรง และยังจะทำให้การแข่งขันทางด้านอาวุธเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก”นายจ้าว ลี่เจียง กล่าว

 

 

ขณะที่สื่อของจีนก็ได้ออกบทบรรณาธิการประณามความร่วมมือออคุสของทั้ง 3 ประเทศเช่นกัน โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ระบุว่า ออสเตรเลียกำลังทำให้ตนเองกลายเป็นปรปักษ์กับจีน

 

 

แม้ว่าผู้นำสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลียจะไม่ได้มีการระบุชื่อประเทศจีนโดยตรงขณะแถลงเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าว แต่ได้เน้นย้ำถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ในแถลงการณ์ร่วมของ 3 ประเทศระบุว่า นี่คือโอกาสสำคัญทางประวัติศาสตร์ของทั้ง 3 ประเทศ ที่เป็นพันธมิตรซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ที่จะปกป้องสิ่งที่เห็นว่ามีคุณค่าร่วมกัน พร้อมกับส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

 

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าการตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรกับทางด้านความมั่นคงระหว่าง 3 ชาติเพื่อต่อต้านจีนยังส่งผลให้ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป (อียู) รู้สึกโกรธเคืองที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการย้อนกลับไปสู่ยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

 

ทั้งนี้หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปี เขาได้ประกาศนโยบายและให้คำมั่นสัญญากับผู้นำยุโรปว่าอเมริกันกลับมาแล้ว และการดำเนินนโยบายทางการทูตแบบหุภาคีจะเป็นทิศทางของการกำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐ แต่กลับดำเนินการในหลายเรื่องสำคัญโดยใช้วิธีเดินหน้าเพียงลำพัง

 

 

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสระบุว่าการดำเนินการล่าสุดนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจได้ และถึงกับเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการแทงข้างหลัง ขณะที่ผู้กำกับดูแลนโยบายต่างประเทศของอียูก็ตำหนิการเคลื่อนไหวดังกล่าว พร้อมย้ำว่าไม่ได้มีการปรึกษายุโรปแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง