รีเซต

สหรัฐปั้น "ออคุส" พันธมิตรทางทหารใหม่ในอินโด-แซิฟิก รวมพลังต่อต้านจีน

สหรัฐปั้น "ออคุส" พันธมิตรทางทหารใหม่ในอินโด-แซิฟิก รวมพลังต่อต้านจีน
มติชน
16 กันยายน 2564 ( 13:50 )
75
สหรัฐปั้น "ออคุส" พันธมิตรทางทหารใหม่ในอินโด-แซิฟิก รวมพลังต่อต้านจีน

เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) และออสเตรเลีย เรียกว่า “ออคุส” (AUKUS) เป้าหมายหลักคือการร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพทางทะเลของกองทัพออสเตรเลียด้วยศักยภาพทันสมัยใหม่ล่าสุด ซึ่งรวมทั้งการพัฒนากองเรือดำน้ำออสเตรเลียให้กลายเป็นกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์จู่โจม พร้อมติดตั้ง “โทมาฮอว์ค” ระบบขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลแบบครูสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรัศมีทำการ 2,500 กิโลเมตร ยิงได้จากทั้งฐานยิงและจากเรือดำน้ำอีกด้วย

 

 

การประกาศจัดตั้งพันธมิตรออคุส มีขึ้นระหว่างการประชุมร่วมผ่านระบบวิดีโอ ระหว่างนายไบเดน, นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งนายไบเดนอ้างว่า ความตกลงนี้จะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถสร้างกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นได้ ซึ่งจะอำนวยให้ได้ศักยภาพทางทหารที่ทันสมัยที่สุดที่ ทั้ง 3 ประเทศต้องการเพื่อปกป้องตนเองจากภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในเวลานี้

 

 

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาย้ำว่า กองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ดังกล่าว เป็นเพียงกองเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ แต่ไม่ได้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ และแม้ผู้นำทั้ง 3 จะไม่ระบุชื่อประเทศจีนออกมาแต่เนื้อหาของถ้อยแถลงจัดตั้งออคุสก็สะท้อนเป้าหมายนี้ชัดเจน

 

 

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะส่งตัวแทนทางเทคนิคและทางนาวีมายังออสเตรเลีย ใช้เวลาราว 18 เดือนในการสำรวจเพื่อบ่งชี้และพัฒนาส่วนที่ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยของกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งนายจอห์นสันย้ำว่าเป็นภารกิจที่ซับซ้อนและต้องการความเชี่ยวชาญทางเทคนิคสูงที่สุดในโลก โดยนอกเหนือจากกองเรือดำน้ำแล้ว ออคุส ยังจะรวมกำลังกันทางด้าน “ไซเบอร์, ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) โดยเฉพาะด้านเอไอประยุกต์, ควอนตัมเทคโนโลยี และขีดความสามารถใต้ทะเลอีกบางด้านอีกด้วย”

 

 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาย้ำว่าออคุสมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้มีความอ่อนไหวสูงสุด ทำให้ที่ผ่านมา สหรัฐเพียงช่วยสหราชอาณาจักรให้พัฒนากองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ขึ้นเท่านั้น และหลังจากออสเตรเลียแล้วก็คงไม่มีชาติอื่นใดอีก โดยกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์จะช่วยรักษาสถานะมีอำนาจเหนือเอาไว้ได้ ด้วยความสามารถในการพรางตัว, ความเร็ว, ความคล่องตัว, มีศักยภาพอยู่รอดสูงและมีความอึด ทนทานในเชิงปฏิบัติการ ถือเป็นการส่งสัญญาณรับประกันไปยังมิตรประเทศและสร้างความแข็งแกร่งเพื่อการป้องปรามอีกด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งออคุส ส่งผลให้ฝรั่งเศส ซึ่งถูกออสเตรเลียยกเลิกสัญญาว่าจ้างพัฒนากองเรือดำน้ำในรูปแบบ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ไม่พอใจและแสดงความเสียใจต่อการยกเลิกสัญญาดังกล่าว ในขณะที่ทางการนิวซีแลนด์ประกาศเตือนทันทีว่า เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของออสเตรเลียต้องไม่ล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำของนิวซีแลนด์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง