รีเซต

จีนประนาฌสนธิสัญญา 'ออคุส’ ชี้ สหรัฐฯ-พันธมิตร ทำลายสันติภาพ

จีนประนาฌสนธิสัญญา 'ออคุส’ ชี้ สหรัฐฯ-พันธมิตร ทำลายสันติภาพ
TNN World
17 กันยายน 2564 ( 16:21 )
104

China: จีนกล่าวโจมตี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ว่าไร้ความรับผิดชอบที่ได้ร่วมกันจัดตั้งสนธิสัญญาด้านความมั่นคงฉบับพิเศษในเอเชียแปซิฟิก เป็นกลุ่มพันธมิตรต้านจีนที่มีชื่อว่า 'ออคุส’

 


หลังผู้นำของทั้งสามชาติประกาศจัดตั้งความตกลงด้านความมั่นคงใหม่ไม่นาน, เจ้า ลี่เจี้ยนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เปิดแถลงตำหนิทั้งสามชาติว่าไร้ความรับผิดชอบ เพราะความตกลงนี้เป็นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และกระตุ้นการแข่งขันด้านอาวุธให้รุนแรงขึ้น 

 


แม้ว่าสนธิสัญญาด้านความมั่นคงฉบับพิเศษในเอเชียแปซิฟิก ที่มีชื่อว่าออคุส จะไม่ได้ระบุถึงจีนหรือชาติใด ๆ โดยตรง แต่นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า เป็นการรวมตัวกันของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เพื่อหวังสกัดกั้นการเติบใหญ่ของจีน ที่ได้ขยายแสนยานุภาพทางการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเป็นการแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับจีนชัดแจ้งยิ่งขึ้น

 


ในการแถลงเปิดตัว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร และ สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ได้ร่วมกันแถลงผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประกาศจัดตั้ง “ออคุส” (AUKUS) ซึ่งเป็นชื่อคำย่อชื่อทั้งสามประเทศมารวมกัน 

 


เนื้อหาสำคัญของความตกลงด้านความมั่นคงนี้คือทั้งสามชาติจะร่วมกันแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและเทคโนโลยีความมั่นคงระหว่างกัน ทั้งเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ สมองกลอัจฉริยะ เทคโนโลยีควอนตัม และเทคโนโลยีไซเบอร์โดยจะมีโครงการแรกคือให้ออสเตรเลียจัดหาเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์มาประจำการในกองทัพเรือ 

 


อย่างไรก็ดี โครงการเรือดำน้ำออสเตรเลียนี้กลายเป็นจุดละเอียดอ่อนที่สุด จีนนำมาโจมตีว่า ออสเตรเลียเป็นผู้ลงนามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่กลับจะใช้เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจด้วย 

 


เพราะเมื่อออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำใหม่จากสหรัฐฯ ตามความตกลงนี้ จึงได้ยกเลิกข้อตกลงที่จะซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล 12 ลำจากฝรั่งเศส 

 


ทำให้ ฌ็อง อีฟ เลอดรียงง รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ด้วยความโกรธ พร้อมกับตำหนิออสเตรเลียว่าแทงข้างหลัง และทรยศฝรั่งเศสที่มอบความไว้เนื้อเชื่อใจให้ 

 


ขณะที่นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ ระบุว่า เธอรู้สึกยินดีต่อเป้าหมายของทั้งสามประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่นิวซีแลนด์จะไม่อนุญาตให้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียเข้ามาในน่านน้ำของประเทศ เนื่องจากนิวซีแลนด์ได้ใช้นโยบายปลอดนิวเคลียร์มาเป็นเวลานานแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง