รีเซต

สนธิสัญญาเขย่าสายสัมพันธ์ ความโกรธเคืองที่ฝรั่งเศสมีต่อสหรัฐฯ อาจปูทางให้จีนได้ผูกมิตรกับชาติยุโรป

สนธิสัญญาเขย่าสายสัมพันธ์ ความโกรธเคืองที่ฝรั่งเศสมีต่อสหรัฐฯ อาจปูทางให้จีนได้ผูกมิตรกับชาติยุโรป
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2564 ( 13:14 )
48
สนธิสัญญาเขย่าสายสัมพันธ์ ความโกรธเคืองที่ฝรั่งเศสมีต่อสหรัฐฯ อาจปูทางให้จีนได้ผูกมิตรกับชาติยุโรป

วิกฤตสหรัฐฯ-ฝรั่งเศส


ฝรั่งเศส พันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ เรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศ เพื่อหารือหลังสหรัฐฯ ประกาศข้อตกลง "ออคุส" ระหว่าง 3 ชาติ 


สนธิสัญญาดังกล่าว จะทำให้ออสเตรเลียมีเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิก แต่ก็หมายความว่า ข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำที่ออกแบบโดยฝรั่งเศส มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.33 ล้านล้านบาท) ต้องยุติลงด้วย


ด้านผู้สังเกตการณ์ทางการทูตของจีน กล่าวว่า นี่คือความแตกแยกระหว่างสหรัฐฯ และฝรั่งเศสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ทำสนธิสัญญาร่วมกัน จุดประเด็นเรื่องความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตร NATO และอาจเปิดโอกาสให้จีนพัฒนาความสัมพันธ์กับยุโรป


หนทางสร้างมิตรของแดนมังกร


กระทรวงการต่างประเทศของจีน ประณามพันธมิตรทางทหารครั้งนี้ว่า เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพในภูมิภาค พร้อมเสริมว่า จะ "จับตาดู" สถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ผู้สังเกตการณ์ในจีน ระบุว่า วิกฤตทางการทูตระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริออง อธิบายว่าเป็นการ “แทงข้างหลัง” อาจเป็นโอกาสสำหรับจีนในการสานสัมพันธ์กับยุโรป ขณะที่ประเทศเหล่านี้ต้องการพึ่งพาตนเอง รวมถึงหลีกเลี่ยงการเลือกข้างในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ


ติง อี้ฟาน อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาโลก ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสภาแห่งรัฐ กล่าวว่า “สิ่งนี้ลดความน่าเชื่อถือเรื่องความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับพันธมิตรยุโรป และแสดงถึงโอกาสสำหรับจีนในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับยุโรป”


ติงกล่าวเสริมว่า การตัดฝรั่งเศสออกจากสัญญา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” อาจส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจที่ยุโรปมีต่อสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานเมื่อเดือนที่แล้ว 


America is back!


เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ทำเนียบขาวหวังว่าจะได้ “ดำเนินการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในระดับสูง เกี่ยวกับประเด็นนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า”


หวัง อี้เว่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุโรป มหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่า แม้ฝรั่งเศสจะมีผลประโยชน์ในอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากมีเครือข่ายพื้นที่โพ้นทะเลที่กว้างขวาง แต่การร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เป็นการเน้นย้ำว่า 'แองโกลสเฟียร์' หรือ ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษโดยกำเนิด อาจมีความสำคัญเหนือกว่า เรื่องพันธมิตร NATO ติดต่อกับจีน


“ไบเดนบอกว่าอเมริกากลับมาแล้ว แต่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก” หวังกล่าว


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการฑูต ระหว่างจีนและสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ตกต่ำในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่งทำให้รัฐสภายุโรประงับการให้สัตยาบันข้อตกลงการลงทุน รวมถึงความบาดหมางระหว่างจีนและลิทัวเนีย ต่อกรณีไต้หวันเมื่อไม่นานมานี้ด้วย


สงครามอิทธิพลสหรัฐฯ-จีนยังคุกรุ่น


ติง ชุน ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ต่างจากสหรัฐฯ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า จีนเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” ในอินโด-แปซิฟิก ขณะที่แผนของสหภาพยุโรปในภูมิภาคนี้ “จำเป็น” ต้องร่วมมือกับจีนในด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ 


ทั้งนี้ ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เป็นผู้สนับสนุนเรื่องการปกครองเชิงกลยุทธ์ของยุโรป และกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ว่า กรณีสหรัฐฯ-จีน สหภาพยุโรปไม่ควรเข้าข้างสหรัฐฯ โดยไม่ผ่านการพิจารณาเสียก่อน แม้ยุโรปจะมีค่านิยมร่วมแบบเดียวกับสหรัฐฯ ก็ตาม


“ในขณะที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการสานสัมพันธ์กับออสเตรเลีย แต่ก็ได้ผลักฝรั่งเศสและพันธมิตรในยุโรปให้ไกลออกไป ในแง่หนึ่ง สหรัฐฯ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของพันธมิตรมากนัก” ติง กล่าว “สิ่งนี้อาจนำไปสู่ความเป็นอิสระเชิงกลยุทธ์ที่มากขึ้นของชาติยุโรป”


ถึงอย่างนั้น ผู้สังเกตการณ์ต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับจีนที่จะฉกฉวยโอกาส จากการวิวาทระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐฯ 


หลายชาติยังคงต้านอำนาจจีน


ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสแสดงตนในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยออกลาดตระเวนในน่านน้ำพิพาทไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงยังร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซ้อมรบร่วมเมื่อเดือนพฤษภาคม


อาโนด ทรานชองต์ ผู้บัญชาการของ Tonnerre หนึ่งในเรือที่แล่นผ่านน่านน้ำในเวลานั้น กล่าวว่า ฝรั่งเศสทำไปเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย และออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า Quad ซึ่งจีนมองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามประสานงาน เพื่อควบคุมอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้


ฉี หยินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังไม่พอใจ นี่อาจเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยระหว่างจีนกับฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสมีบทบาทในอินโด-แปซิฟิก ในแง่ของกลยุทธ์ทางทหาร


“อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝรั่งเศสอาจบรรลุข้อตกลง แต่การตอบโต้เชิงกลยุทธ์ของออสเตรเลียที่มีต่อจีน ทั้งในแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ทำให้จีนต้องสานสัมพันธ์กับออสเตรเลียอย่างมีนัยสำคัญ” เขา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง