3 ผู้นำออคัสเผยรายละเอียดแผนเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ตอบโต้อิทธิพลจีน
“ออคัส” เผยแผนการร่วมกัน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัคของสหราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลเบเนซี ของออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ร่วม รับรองแผนการต่าง ๆ สำหรับโครงการที่เรียกว่า “ออคัส” (AUKUS) กลุ่มความมั่นคงใหม่ของทั้ง 3 ประเทศ ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2021
โดยจัดแถลงข่าวที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ท่าเรือหลักสำคัญที่สุดของกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม) ตามเวลาในสหรัฐฯ
แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงออคัส สหรัฐฯ มีความตั้งใจจะขายเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย (Virginia class) ให้แก่ออสเตรเลีย 3 ลำ ซึ่งจะสร้างโดยบริษัท General Dynamics ในช่วงต้นทศวรรษ 2030 โดยออสเตรเลียมีสิทธิ์ที่จะซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวเพิ่มได้อีก 2 ลำถ้าหากจำเป็น
พร้อมระบุว่า โครงการออคัสมีหลายขั้นตอน โดยจะจบลงที่สหราชอาณาจักรกับออสเตรเลียจะผลิตและปฏิบัติการเรือดำน้ำชั้นใหม่ คือ เรือดำน้ำ SSN-AUKUS ซึ่งจะพัฒนาร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยใช้การออกแบบในยุคหน้าของสหราชอาณาจักร และจะสร้างในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของสหรัฐฯ
ด้านสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ร่วมอีกฉบับ ระบุว่า สหราชอาณาจักรจะเริ่มการส่งมอบเรือดำน้ำ SSN-AUKUS ลำแรกในช่วงปลายทศวรรษ 2030 และออสเตรเลียจะได้รับเรือดำน้ำดังกล่าวลำแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2040 บริษัท BAE Systems และ Rolls-Royce จะเป็นผู้สร้างเรือดำน้ำ SSN-AUKUS
เจ้าหน้าที่อาวุโสรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะส่งเรือดำน้ำไปประจำการที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อช่วยฝึกลูกเรือออสเตรเลียและเพื่อเพิ่มการป้องปราม
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วม 3 ผู้นำระบุว่า สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะเริ่มหมุนเวียนประจำการเรือดำน้ำที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียโดยเร็วที่สุดในปี 2027 และจำนวนเรือดำน้ำของสหรัฐฯ จะเพิ่มเป็น 4 ลำ ส่วนของสหราชอาณาจักรจะมี 1 ลำภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเรือดำน้ำนิวเคลียร์ คาดว่าจะอยู่ที่ 268,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียถึง 368,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียภายในปี 2055 หรือประมาณ 0.15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี ครอบคลลุมการสร้างเรือดำน้ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการฝึกอบรม
ส่องถ้อยแถลง 3 ผู้นำ
ประธานาธิบดีไบเดน ระบุว่า การสร้างความร่วมมือครั้งใหม่นี้ กำลังแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถส่งมอบความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของเราเองได้อย่างไรไม่ใช่แค่เพื่อเรา แต่เพื่อโลกทั้งใบ
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า แผนเรือดำน้ำจะสร้างงานใหม่หลายพันตำแหน่งและถือเป็น การลงทุนเพียงครั้งเดียวในขีดความสามารถด้านกลาโหมของออสเตรเลียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี และเป็นเพียงครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ แบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์นี้แก่ชาติอื่น
ด้านนายกรัฐมนตรีซูนัค ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ในช่วง 18 เดือนนับตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อตกลงนี้ ความท้าทายต่อเสถียรภาพของโลกมีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมายของรัสเซีย ความอหังการที่เพิ่มขึ้นของจีน พฤติกรรมที่สั่นคลอนของอิหร่านและเกาหลีเหนือ ล้วนเป็นภัยคุกคามที่จะสร้างโลกที่ถูกกำหนดด้วยอันตราย ความวุ่นวาย และการแตกแยก
ก้าวสำคัญตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนในอินโดแปซิฟิก
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับผู้นำออสเตรเลียว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์เป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” เมื่อรวมกับควอด (Quad) ที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับญี่ปุ่นและอินเดีย เราก็จะมีความสามารถในการขยายอาณาเขตทางทะเลของประชาธิปไตย สันติภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
ภายใต้ข้อตกลงออคัส (AUKUS) นี่จะเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ แบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์ นับตั้งแต่เคยแบ่งปันเทคโนโลยีนี้กับอังกฤษในทศวรรษ 1950
ข้อตกลงดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์จากจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำจุดยืนของจีนว่าข้อตกลงนี้เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธและ “บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
และเรียกร้องให้สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ละทิ้งความคิดแบบสงครามเย็น และเกมผลรวมศูนย์ ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างซื่อสัตย์ และทำมากกว่านี้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯไม่มีความตั้งใจที่จะสร้างพันธมิตรใหม่ที่มีลักษณะเหมือนนาโต
นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้นำออคัส ถือเป็นก้าวสำคัญในการตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนในอินโดแปซิฟิก
ด้าน ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียแถลงจากกรุงแคนเบอร์รา ของออสเตรเลีย ว่า ได้เสนอจะบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อตกลงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ออคัสต่อจีน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังได้โทรศัพท์มากกว่า 60 ครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงผู้นำชาติต่าง ๆ รวมถึงในแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวด้วย
กระชับสัมพันธ์ทางทหาร-การค้าไปพร้อมกันได้หรือไม่
นักวิเคราะห์มองว่า ในขณะที่ผู้นำทั้งสามเน้นย้ำว่าข้อตกลงออคัส จะเสริมสร้างความร่วมมือนำไปสู่เสถียรภาพของโลกได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียทางการเมืองด้วย
ก่อนหน้านี้ ในปี 2021 ออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำมูลค่าหลายล้านดอลลาร์กับฝรั่งเศส ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง
ฟิล เมอร์เซอร์ แห่ง BBC ในซิดนีย์ กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวทำให้กองทัพออสเตรเลียมีแนวร่วมใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และอังกฤษมากกว่าที่เคยเป็นมา
รัฐบาลออสเตรเลียยกย่องข้อตกลงนี้ว่า มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และสร้างงานนับพันตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการทูตที่ละเอียดอ่อนมากในอนาคต
เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย และคำถามก็คือ ออสเตรเลียสามารถกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ ได้หรือไม่ ในขณะที่กำลังส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน
“ออคัส” จะทำให้ออสเตรเลียมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 368,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ในอีกสามทศวรรษข้างหน้า
ทั้งนี้ ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับฐานทัพเรือดำน้ำชายฝั่งตะวันออกในอนาคต แต่คาดว่าออสเตรเลียน่าจะใช้ท่าเรือเคมบลาใกล้วูลลองกอง ซึ่งอยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางใต้ 100 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าวว่า ชุมชนของเธอกังวลว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจทำให้ให้เราตกเป็นเป้าหมายทางทหารได้
แคธ เบลคีย์ สมาชิกสภาพรรคกรีนส์ คิดว่ามันเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับออสเตรเลียที่จะผูกมัดตัวเองไว้กับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: