Editor’s Pick: ผลกระทบจาก ‘ออคัส’ เมื่อสหรัฐฯ กล่าวกับอินเดียมาหลายปีแล้วว่า ไม่สามารถแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้อินเดียได้
TNN World
24 กันยายน 2564 ( 09:53 )
58
Editor’s Pick: ผลกระทบจาก ‘ออคัส’ เมื่อสหรัฐฯ กล่าวกับอินเดียมาหลายปีแล้วว่า ไม่สามารถแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้อินเดียได้ แต่ตอนนี้สหรัฐฯ กลับทำข้อตกลงร่วมกับออสเตรเลียหน้าตาเฉย
ออสเตรเลียจัดซื้อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ อย่างน้อย 8 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงป้องกันไตรภาคีฉบับใหม่กับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก่อให้เกิดประเด็นว่า อินเดียควรตอบโต้อย่างไร หลังสหรัฐฯ ปฏิเสธเรื่องการแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้มาโดยตลอด
สายสัมพันธ์ที่ “แน่นแฟ้น”...ไม่พอ
อรุณ ปรากาช อดีตผู้บัญชาการทหารเรืออินเดีย ทวีตข้อความบน Twitter เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชี้ว่า ความร่วมมือดังกล่าว อาจทำให้รัฐบาลอินเดียไม่พอใจได้
“หลายปีมาแล้วที่สหรัฐฯ บอกอินเดียว่า กฎหมายของสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถแบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์กับใครได้ รวมถึงประเทศพันธมิตรด้วย” เขากล่าว
“แม้แต่ข้อตกลงนิวเคลียร์อินเดีย-สหรัฐฯ และการลงนามในข้อตกลงพื้นฐานทั้งสี่ฉบับ ก็ดูเหมือนจะไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะตอนนี้กลับมีข้อตกลงสามชาติเกิดขึ้นมา” ปรากาช กล่าว
เศขระ สิงหะ อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรืออินเดีย กล่าวว่า เรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ จะมี “ผลกระทบสำคัญ” ต่อสมดุลอำนาจในอินโด-แปซิฟิก
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดีย
ปี 2008 อินเดียและสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงที่สหรัฐฯ จะร่วมมือด้านนิวเคลียร์เชิงพลเรือนอย่างเต็มรูปแบบ แลกกับการให้อินเดียแยกโรงงานนิวเคลียร์พลเรือนและทหารออกจากกัน และจัดตั้งโรงงานนิวเคลียร์พลเรือนทั้งหมด ภายใต้การคุ้มครองของหน่วยงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
ในปีถัดมา ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงสี่ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือทางทหารและการเข้าถึงอาวุธที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าว ไม่ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทางการทหารแต่อย่างใด
ศรีนาถ ราฆวัน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า มันไม่สมเหตุสมผลที่จะคาดหวังให้สหรัฐฯ แบ่งปันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทางทหารกับอินเดีย
“ทำไมอินเดียถึงคาดหวังให้สหรัฐฯ แบ่งปันความรู้ดังกล่าว อินเดียไม่ได้เป็นพันธมิตรหรือผูกพันกับสหรัฐฯ โดยสนธิสัญญาใด ๆ ด้วยซ้ำ” เขากล่าว เพราะอย่างออสเตรเลียนั้น เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ผลประโยชน์ของประเทศต้องมาก่อน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ เริ่มใกล้ชิดมากขึ้นตั้งแต่ปี 2000 แต่ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์และความมั่นคงของสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีความแน่นแฟ้นมากกว่า
“เป็นเรื่องปกติทางการเมือง” ราฆวัน กล่าว โดยสังเกตว่าอินเดีย ยังคงรักษาเอกราชทางยุทธศาสตร์ไว้ได้ “บางครั้งสหรัฐฯ ยังเพิกเฉยต่อพันธมิตรอย่างฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น คงจะโง่เขลาไปหน่อย หากอินเดียมองว่าสิ่งนี้เป็นการดูแคลน”
หนึ่งในอดีตเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ แบ่งปันเทคโนโลยีนี้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น ส่วนออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อสนธิสัญญา ANZUS
“ความสัมพันธ์ทั้งสองของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะกับอินเดีย หรือออสเตรเลีย เป็นเรื่องที่ไม่ควรเปรียบเทียบกัน” เขากล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
สารนา ยังกล่าวอีกว่า อินเดียควรพิจารณารายละเอียด ข้อตกลง ‘ออคัส’ ในอินโด-แปซิฟิกเสียใหม่ หากผลลัพธ์คือการช่วยต่อต้านอำนาจจีน นั่นจะเป็นประโยชน์ต่ออินเดียด้วย
อินเดียกับความช่วยเหลือจากรัสเซีย
หลังสงครามชายแดนอินเดีย-จีน ในปี 1962 อินเดียได้ติดต่อสหรัฐฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการสร้างกองกำลังเรือดำน้ำ แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธ ส่งผลให้อินเดียหันไปพึ่งพาสหภาพโซเวียต
“ช่วงปี 1963 รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และคณะผู้แทน เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อค้นหาแหล่งผลิตเรื่องดำน้ำ แต่ชาวอเมริกันปฏิเสธ และบอกให้เรา ‘ไปยังสหราชอาณาจักร ใช้ซัพพลายเออร์ดั้งเดิมของอินเดีย’ ”
ศรีคันเต กล่าวว่า “สหราชอาณาจักรเสนอเรือดำน้ำที่ทั้งเก่าและล้าสมัยให้อินเดีย เราจึงไปรัสเซีย และซื้อเรือดำน้ำของที่นั่นแทน”
ซาร์นา อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวว่า อินเดียแสวงหาความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกับรัสเซีย เนื่องจากความพร้อม, การเข้าถึง, ราคา, ความสัมพันธ์ทางการทูต และความคุ้นเคยกับระบบและอาวุธของรัสเซียมีมากกว่า
“หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และอินเดีย ไม่ได้มีแนวคิดเดียวกันในประเด็นระหว่างประเทศเสมอไป” เขากล่าว โดยอ้างถึงการรับรู้ในหมู่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ ที่อินเดียเอียงไปทางรัสเซียในช่วงสงครามเย็น
“ออคัส” จุดชนวนเรื่องความสำคัญของเรือดำน้ำโจมตี
ราฆวัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำกรุงมอสโก ตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2016 กล่าวว่า ภายใต้สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ปี 1968 ห้ามมิให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อการใช้งานทางทหาร ขณะที่อินเดียไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว และการเช่าเรือดำน้ำ ไม่ได้เป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดภายใต้สนธิสัญญา
ราฆวัน เสริมว่า จีนละเมิดสนธิสัญญาหลายครั้ง ด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับปากีสถาน ซึ่งยังไม่ได้ลงนามใน NPT
ไมเคิล ชูบริดจ์ จาก Australian Strategic Policy Institute กล่าวว่า ออสเตรเลียจะปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ NPT
“คำมั่นสัญญาของออสเตรเลียที่จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับประวัติที่แน่วแน่เกี่ยวกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงออคัส” เขากล่าว
การพึ่งพาตนเองของอินเดีย
รัฐบาลอินเดียหันมาพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โครงการล่าสุด คือ Project 75 Alpha ที่ทางการวางแผนสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 6 ลำ ในราคา 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.67 แสนล้านบาท) และเรือดำน้ำทั่วไปอีก 18 ลำ ซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นในอินเดีย คาดว่าจะมีการก่อสร้างในปี 2023-2024 และเรือดำน้ำลำแรก น่าจะพร้อมใช้งานในปี 2032
อินเดียได้ขอให้บริษัทป้องกันของสหรัฐฯ ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการร่วมทุนและการลงทุนในประเทศ แต่ราฆวัน ระบุว่า เขาไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ ได้แบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้กับอินเดียหรือไม่
ด้าน สิงหะ อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ กล่าวว่า อินเดียไม่ต้องการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อีกต่อไป “อินเดียก้าวหน้าขึ้นมากตั้งแต่ปี 2009”
ศรีคันเต กล่าวเสริมว่า อินเดียจำเป็นต้องไล่ตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย แทนที่จะเป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว เพราะ “อินเดียที่พึ่งพาตนเองจะเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ดีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” ศรีคันเต กล่าว