รีเซต

“ยาอิมครานิบ 100" รักษามะเร็งมุ่งเป้า ใช้สิทธิเบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่? ไขข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้

“ยาอิมครานิบ 100" รักษามะเร็งมุ่งเป้า  ใช้สิทธิเบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่? ไขข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2568 ( 12:36 )
19

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัย? “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100” ยาเม็ดรักษามะเร็งชนิดมุ่งเป้าตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยจากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ใช้สิทธิเบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่ ?


มาทำความรู้จัก “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100” ยาเม็ดรักษามะเร็งชนิดมุ่งเป้าตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยจากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผลจากการทรงงานด้านเภสัชกรรมด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระปณิธานอันแน่วแน่ตลอดหลายปีขององค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเกิดเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุข 


“อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100" ประกอบด้วยตัวยาสำคัญอิมาทินิบ (IMATINIB) 100 มิลลิกรัม โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 


-อิมครานิบ 100 รักษามะเร็งอะไรได้บ้าง?

-มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล 

-มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก 

-มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารหรือมะเร็งจิสต์ (GIST) 

-มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP)

 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์มะเร็งวิทยา ได้พิจารณานำยา "อิมครานิบ 100" จากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ มาใช้ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเป็นแห่งแรก และได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และศักยภาพของการผลิตยาคุณภาพสูงในประเทศไปสู่การนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับยาอิมครานิบ 100 ในระยะแรกจึงต้องเป็นผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว และได้รับการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยาเท่านั้น (ผู้ป่วยไม่สามารถขอรับยาเองได้) 

ถ้าได้รับการสั่งจ่ายยาอิมครานิบ 100 เบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่ ?


เบิกได้ เนื่องจากยาเม็ดรักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้าตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100" ประกอบด้วยตัวยาสำคัญอิมาทินิบ (IMATINIB) 100 มิลลิกรัม ซึ่งยาอิมมาทินิบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถเบิกได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดของแต่ละกองทุน ทั้งสิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม อย่างไรก็ตาม แต่ละกองทุนสุขภาพซึ่งมีข้อจำกัดในบางโรคและบางระยะของโรคที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพในปัจจุบัน ดังนั้น การผลิตยาได้เองในประเทศจะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดนี้ได้ในอนาคต โดยจะช่วยขยายขอบเขตการใช้ยาให้ครอบคลุมทุกข้อบ่งชี้ของการรักษา ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค ลดความทุกข์ทรมาน และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ไขข้อสงสัยเพิ่มเติมระหว่างความแตกต่างของมะเร็งจิสต์ (GIST) หรือมะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร กับ มะเร็งลำไส้ใหญ่  โดยหลายคนสงสัยว่า “ถ้า GIST อยู่ในลำไส้ ก็คือมะเร็งลำไส้ใหญ่ใช่ไหม?” 

คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะเป็นคนละชนิดกัน ทั้งด้านเซลล์ต้นกำเนิดและวิธีการรักษา ดังนั้น มะเร็ง GIST ที่ลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่

 GIST (Gastrointestinal Stromal Tumor)

-เป็นมะเร็งของเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่ในผนังของทางเดินอาหาร

 - อาจเกิดได้ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก จนถึงลำไส้ใหญ่

 - ถึงแม้จะเจอในลำไส้ แต่ไม่ได้เรียกว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

- รักษาด้วย “ยามุ่งเป้า” เช่น IMATINIB ซึ่งยา“อิมครานิบ 100” ประกอบด้วยตัวยาสำคัญอิมาทินิบ (IMATINIB) จึงใช้รักษามะเร็งชนิดดังกล่าว (เคมีบำบัดทั่วไปใช้ไม่ได้ผล)


 มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer)

 - เป็นมะเร็งของเซลล์เยื่อบุผิวด้านในของลำไส้

 - เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงสะสม เช่น รับประทานอาหารแปรรูป พันธุกรรม

 - เกิดได้ในหลายตำแหน่งของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 

 - การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด เคมีบำบัด และในบางกรณีอาจใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด


โดยสรุป แม้ว่ามะเร็ง GIST จะเกิดใน “ลำไส้” ได้ แต่เป็นมะเร็งคนละชนิดกับมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยสิ้นเชิง รู้ให้ชัด เพื่อการวินิจฉัยและวางแผนรักษาที่ถูกต้องที่สุด


สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่ต้องการเข้ารับการปรึกษาเพื่อวางแผนการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถส่งประวัติปรึกษาและนัดหมายล่วงหน้าผ่านเมนู “ปรึกษาโรคมะเร็ง” ทาง 

 LINE Official Account โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ @chulabhornhospital (กดเพิ่มเพื่อน http://nav.cx/8DqLuQm

เลือกหัวข้อและชนิดมะเร็งที่ต้องการปรึกษา พร้อมเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อส่งปรึกษา อาทิ ประวัติการรักษา รายงานการผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายงานผลทางรังสีวินิจฉัยพร้อมซีดี รายงานผลทางพยาธิวิทยา ผลชิ้นเนื้อพร้อมสไลด์บล็อก (ถ้ามี) ผลชิ้นเนื้อไขกระดูก (ถ้ามี) เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไปเพื่อประหยัดเวลาและลดการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง