รีเซต

NASA เคาะเวลาทดสอบแคปซูล Starliner เตรียมบินสู่อวกาศต้นปีหน้า

NASA เคาะเวลาทดสอบแคปซูล Starliner เตรียมบินสู่อวกาศต้นปีหน้า
TNN ช่อง16
29 สิงหาคม 2565 ( 09:53 )
71

โครงการสตาร์ไลน์เนอร์ (Starliner) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา (NASA) กับบริษัทโบอิง (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินชื่อดัง ที่วางแผนจะส่งมนุษย์เดินทางจากโลกไปยังสถานีอวกาศด้วยแคปซูลและกลับมาที่โลกอย่างปลอดภัย

ล่าสุด มีการประกาศกำหนดเวลาเที่ยวบินทดสอบที่จะมีลูกเรือที่เป็นคนจริง ๆ ให้เดินทางไปกับยานภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 หลังจากวิศวกรของนาซาแก้ไขปัญหาขัดข้องทางเทคนิคต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในการทดสอบก่อนหน้าได้ในที่สุด 


โดยก่อนหน้านี้ โครงการสตาร์ไลน์เนอร์ ต้องสะดุดจากการบินทดสอบที่ล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง เช่น เจอปัญหาซอฟต์แวร์ล่มในการทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2019 หรือเจอปัญหาเกี่ยวกับท่อขับดันในการทดสอบเมื่อต้นปีนี้ จนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถึงได้มีข่าวดี เมื่อนาซาทดลองใช้หุ่นดัมมี่เป็นตัวแทนมนุษย์ เดินทางไปกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ จึงเป็นที่มาของการประกาศทดสอบใช้คนจริง ๆ เดินทางไปกับยานอวกาศในครั้งนี้


ยานที่จะใช้ในภารกิจนี้ มีชื่อว่าซีเอสทีวันฮันเดรดสตาร์ไลน์เนอร์ (CST-100 Starliner) เป็นยานขนส่งอวกาศรองรับนักบินอวกาศได้สูงสุด 7 ที่นั่ง แต่ในภารกิจปกติของนาซารองรับนักบินอวกาศ 4 ที่นั่ง ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานแบบอเนกประสงค์ โดยมีหน้าที่หลัก ๆ คือการรับส่งนักบินอวกาศของนาซา ไปและกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ โดยภายในมีปริมาตรใช้สอย 11 ลูกบาศก์เมตร สามารถปรับเป็นที่นั่งสลับกับที่วางสัมภาระได้หลากหลายแบบ ตัวยานมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.56 เมตร ติดตั้งบนจรวด แอตลาส ไฟฟ์  (Atlas 5) ในขาไป ส่วนขากลับจะใช้ถุงลมรองรับใต้ยานร่วมกับร่มชูชีพ เพื่อลงจอดบนผิวโลกบริเวณใดก็ได้ที่เป็นพื้นราบโดยไม่ต้องลงจอดในทะเลแบบยานโดยสารครูว์ ดรากอนของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ทำให้ได้เปรียบเรื่องความสะดวกสบาย เพราะนักบินอวกาศไม่ต้องรอเรือมารับ 


ทั้งนี้ โบอิงได้สร้างยานรุ่นนี้เอาไว้ 2 ลำ สลับกันใช้งาน 6 เดือนต่อการเดินทางหนึ่งรอบ โดยยานในส่วนโดยสารจะถูกใช้ซ้ำหลายครั้งเพื่อความประหยัด แต่โบอิ้งจะเปลี่ยนโมดูลบริการที่มาต่อเชื่อมด้านหลังส่วนโดยสารนี้ให้เป็นของใหม่ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย


ส่วนนักบินอวกาศจากนาซาที่จะเดินทางไปในภารกิจนี้คือ แบรี วิลมอร์ (Barry Wilmore) และ สุนิตา วิลเลียมส์ (Sunita Williams) ซึ่งจะเดินทางไปและกลับสถานีอวกาศนานาชาติและโลกเป็นเวลา 8 วัน เป็นภารกิจทดสอบขั้นสุดท้าย ก่อนที่นาซาจะรับรองให้แคปซูลสตาร์ไลน์เนอร์ เป็นยานพาหนะประจำสำหรับนักบินอวกาศของนาซา


ซึ่งถ้าหากได้รับการรับรอง สตาร์ไลน์เนอร์ ก็จะกลายเป็นอีกตัวเลือกในการรับส่งนักบินอวกาศเข้าและออกจากสถานีอวกาศ ควบคู่ไปกับยานอวกาศ ครูว์ ดรากอน (Crew Dragon) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ต่อไป 


ที่มาของข้อมูล reuters.com

ที่มาของรูปภาพ Reuters



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง