รีเซต

F-35 อัปเป็นบ.ขับไล่ยุค 5+ ได้ เคลม 80% ของ Boeing F-47 ในราคาแค่ 50%

F-35 อัปเป็นบ.ขับไล่ยุค 5+ ได้ เคลม 80% ของ Boeing F-47 ในราคาแค่ 50%
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2568 ( 17:17 )
23

จิม เทคเล็ต (Jim Taiclet) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-35 ประกาศว่าพร้อมเสนอทางเลือกให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในการปรับปรุง F-35 ให้เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5+ โดยตั้งชื่อเล่นว่า F-35 Supercharged หรือ “Ferrari” ซึ่งมีความสามารถร้อยละ 80 ของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 อย่าง F-47 ของโบอิง (Boeing) โดยมีราคาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

พร้อมอัปเกรด F-35  แม้ไม่ใช่เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6

โครงการเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 หรืออีกชื่อหนึ่งว่าเอ็นแก็ด (NGAD: Next Generation Air Dominance) เป็นโครงการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในการสร้างเครื่องบินขับไล่ครองอากาศทดแทน Lockheed Martin F-22 Raptor โดยมี Lockheed Martin และ Boeing เข้าร่วมโครงการ (Northrop Grumman ถอนตัวระหว่างทาง) โดยการส่งร่างเครื่องบินต้นแบบ ก่อนที่รัฐบาลในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศเลือกร่างของ Boeing และตั้งรหัสโมเดลว่า F-47 ในวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

แม้ว่า Lockheed Martin จะพลาดโอกาสดังกล่าว แต่ทาง CEO ของบริษัทกล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้วเราสามารถสร้างสมการที่คุ้มค่าได้” พร้อมเสนอว่า “หลักการแล้วเราจะเปลี่ยนตัวถัง F-35 และทำให้มันเหมือนเป็นเฟอร์รารี เหมือนทำรถยนต์ให้เป็นรถแข่ง (NASCAR) แล้วก็เอาเทคโนโลยีที่เราร่วมลงทุนเพื่อใช้กับ NGAD มาใช้กับ F-34 แทน” พร้อมเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น F-35 Supercharged ที่นิยามตัวเองว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 แบบพิเศษ หรือที่เรียกว่า เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 พลัส (5th Generation Plus)

แผนยกเครื่อง F-35 5th Generation Plus

เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 พลัส (5th Generation Plus) จะเป็นการนำเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ การออกแบบเพื่อลดการสะท้อนเรดาร์ และการป้องกันตัวเอง (Countermeasure) สำหรับเสริมการลอบเร้น (Stealth) การรองรับการทำงานร่วมกับโดรนติดอาวุธ (Collaborative combat aircraft: CCA) รวมถึงปรับปรุงขนาดและกำลังของระบบเรดาร์ให้ตรวจจับได้ละเอียดและไกลมากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงการติดตั้งอาวุธพิสัยไกลเพิ่มเติม

เทคเล็ตเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีทั้งหมดซึ่งร่วมลงทุนพัฒนาสำหรับนำเสนอโครงการ NGAD นั้นเป็นไปได้ และยังเชื่อว่าสามารถทำให้คุ้มทุนได้ “ผมได้มอบวิสัยทัศน์ให้กับทีมว่าจะให้พัฒนา F-35 ยุคที่ 5 แบบพลัส ให้ได้ความสามารถ 80% ของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 โดยมีต้นทุนไม่เกิน 50%” ซึ่งจะมาจากการใช้ระบบ AI ในการช่วยขับเคลื่อนโรงงานและออกแบบเพื่อลดต้นทุนแรงงานในการผลิต

ปัญหา F-35 ในการเคลมว่าพร้อมอัปเกรดชน F-47

อย่างไรก็ตาม เอโรสเปซ โกลบอล นิวส์ (Aerospace Global News) สำนักข่าวด้านอากาศยานจากอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดตัวเครื่องบิน (Airframe) ของ F-35 นั้นเล็กกว่า F-47 ซึ่งส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการติดตั้งและระบายความร้อนให้กับระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warface) สำหรับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 รวมไปถึงการออกแบบ F-35 ที่ขาดความอิสระในการเสริมแต่ง (Open Architecture) นั้นก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับปรุง F-35 ในภายหลัง

ทั้งนี้ F-35 มีการปรับปรุงครั้งที่ 4 (Block 4) ซึ่งได้รับการปรับปรุงเทคโนโลยีครั้งที่ 3 (Technology Refresh 4: TR-3) โดยเสริมความสามารถในการประมวลผลเซนเซอร์และเรดาร์ต่าง ๆ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ ตลอดจนปรับปรุงเรดาร์ใหม่ เป็นรุ่น AN/APG-85 จากเดิมรุ่น AN/APG-81 แต่เกิดความล่าช้าจนหยุดการส่งมอบไปช่วงหนึ่งระหว่างปี 2023 - 2024 ที่ผ่านมา 

ประเทศที่สั่งซื้อ F-35 เข้าประจำการ

สำนักข่าวแอ็กเซียส (Axios) รายงานว่า Lockheed Martin มีกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบ F-35 ให้ลูกค้าได้ระหว่าง 170 - 190 ลำ ในปี 2025 นี้ และมี F-35 ประจำการทั่วโลกที่ประมาณ 1,000 ลำ 

F-35 มีประจำการทั้งหมดใน 12 ประเทศ (รวมทุกประเภทย่อย F-35A,B,C) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เบลเยียม โปแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และ F-35I รุ่นพิเศษเฉพาะอิสราเอล รวมถึงรอการส่งมอบอีก 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ โรมาเนีย สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง