รีเซต

เฮลิคอปเตอร์พลังงานนิวเคลียร์ Dragonfly ของ NASA ผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

เฮลิคอปเตอร์พลังงานนิวเคลียร์ Dragonfly ของ NASA ผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย
TNN ช่อง16
29 เมษายน 2568 ( 00:17 )
7

ภารกิจดรากอนฟลาย (Dragonfly) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ได้ผ่านการตรวจสอบการออกแบบเชิงวิจารณ์ (Critical Design Review) เป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นก้าวสำคัญก่อนการปล่อยยานไปสำรวจดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเสาร์ ในปี พ.ศ. 2571 (ค.ศ. 2028)

เฮลิคอปเตอร์ดรากอนฟลาย (Dragonfly) เป็นยานบินใบพัดขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ขนาดใกล้เคียงรถยนต์ ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาศักยภาพของไททันในการรองรับสิ่งมีชีวิต โดย NASA เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า การผ่านการตรวจสอบครั้งนี้หมายความว่าโครงการได้รับการอนุมัติทั้งในแง่แผนการออกแบบ การผลิต การประกอบ และการทดสอบ สามารถเดินหน้าสู่ขั้นตอนการสร้างยานได้อย่างเต็มรูปแบบ

ภารกิจมูลค่า 3.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 123,000 ล้านบาท ได้รับการคัดเลือกโดย NASA ตั้งแต่ปี 2019 และดำเนินการภายใต้ความดูแลของห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Applied Physics Laboratory: APL) ในรัฐแมริแลนด์ โดยมีเอลิซาเบธ เทอร์เทิล (Elizabeth Turtle) เป็นทีมนักวิจัยหลักของโครงการ

แม้โครงการจะประสบกับความล่าช้าและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ภารกิจนี้ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไททันถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยศักยภาพในการเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

เฮลิคอปเตอร์ดรากอนฟลาย (Dragonfly) มีกำหนดปล่อยตัวไม่เร็วกว่ากเดือนกรกฎาคม 2028 โดยใช้จรวดฟอลคอน เฮฟวี (Falcon Heavy) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี เดินทางไปยังระบบดาวเสาร์ และมีกำหนดปฏิบัติภารกิจสำรวจไททันเป็นเวลานานกว่า 3 ปี

เฮลิคอปเตอร์ดรากอนฟลาย (Dragonfly) จะติดตั้งกล้อง เซ็นเซอร์ และระบบเก็บตัวอย่าง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต โดยมุ่งเน้นการค้นหากระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นก่อนการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิต หรือเคมีก่อนไบโอติก (Prebiotic chemistry) และสัญญาณของสิ่งมีชีวิตที่อาจมีอยู่

ดวงจันทร์ไททัน ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และใหญ่เป็นอันดับ 2ในระบบสุริยะ รองจากดวงจันทร์แกนีมีดของดาวพฤหัสบดี มีบรรยากาศหนาทึบและขุ่นมัว พื้นผิวประกอบด้วยเนินทรายไฮโดรคาร์บอนและทะเลสาบมีเทน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภายใต้ชั้นน้ำแข็งของไททันอาจมีมหาสมุทรน้ำเค็ม ซ่อนอยู่ เพิ่มโอกาสที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ก่อนหน้านี้ ในปี 2005 ภารกิจแคสสินี (Cassini) ของ NASA ได้ส่งยานสำรวจฮอยเกนส์ (Huygens) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ลงจอดบนไททันผ่านการใช้ร่มชูชีพ และได้ส่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์แห่งนี้กลับมา

หากภารกิจดรากอนฟลาย (Dragonfly) ประสบความสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการกำเนิดชีวิตในที่อื่น ๆ ของระบบสุริยะได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง