รีเซต

นักฟิสิกส์อังกฤษเสนอแนวคิดใหม่ จักรวาลอาจเป็นเพียงระบบจำลองข้อมูลในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ?

นักฟิสิกส์อังกฤษเสนอแนวคิดใหม่ จักรวาลอาจเป็นเพียงระบบจำลองข้อมูลในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ?
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2568 ( 00:55 )
17

เมลวิน ว็อปสัน (Melvin Vopson) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ในอังกฤษ นำเสนองานวิจัยทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการกำหนดกรอบ (Framework) พิจารณาจักรวาลว่าแท้จริงแล้วเป็นระบบจำลอง (Simulation) ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีโลกและมนุษยชาติเป็นหนึ่งในระบบจำลองนี้

ทฤษฎีมองจักรวาลในรูปแบบใหม่

แนวคิดดังกล่าวพิจารณาจากพื้นฐานกฏข้อที่ 2 ของอุณหพลศาสตร์หรือเทอร์โมไดนามิกส์ (Thermodynamics) ที่ระบุว่ากระบวนการใด ๆ ในธรรมชาติ รวมถึงจักรวาลจะศูนย์เสียพลังงานและเพิ่มความยุ่งเหยิง (Disorder) ให้กับระบบ หรืออีกชื่อหนึ่งคือเอ็นโทรปี (Entropy) 

ซึ่งจากหลักการนี้ ทำให้เขาได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับข้อมูล หรือเรียกว่า ทฤษฎีพลศาสตร์ (Infodynamics) ศาสตร์ของการพิจารณาคณิตศาสตร์ในเชิงข้อมูล ซึ่งระบุว่าความน่าจะเป็นของข้อมูลใด ๆ จะคงที่หรือลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเรียกว่าอินฟอร์เมชัน เอ็นโทรปี (Information Entropy) 

หรือโดยพื้นฐานแล้ว ว็อปสันเชื่อว่าจากกฏข้อที่ 2 ของอุณหพลศาสตร์ และการพิจารณาปรากฏการณ์ในจักรวาลเป็นรูปแบบของการกระจายตัวของข้อมูลนั้นทำให้สรุปได้ว่าจักรวาลคือระบบจำลองจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์

ตัวอย่างปรากฏการณ์จักรวาลที่สอดคล้อง

ว็อปสันสนับสนุนแนวคิดของตนด้วยการอธิบายว่า ความโน้มถ่วง (Gravity) คือผลลัพธ์ที่มาจากกระบวนการประมวลผล ซึ่งเป็นผลพวงของระบบจำลองที่มนุษยชาติเรียกว่าจักรวาลนั้นพยายามจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ ในระบบจำลอง ที่เปรียบเสมือนการเรียงต่อกันของพิกเซล (Pixel) ระดับมโหฬาร ที่แต่ละพิกเซล จะมีสถานะข้อมูลได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการรวมตัวของฝุ่นในอวกาศจนกลายเป็นดาวที่ได้ความโน้มถ่วงระหว่างวัตถุเหนี่ยวนำกันและกันนั้น ว็อปสันอธิบายว่า กระบวนการนี้เป็นการที่ระบบจำลองพยายามทำพิกเซลแต่ละพิกเซล ซึ่งก็คือฝุ่น หรือกลุ่มวัตถุในจักรวาลเรียงตัวให้เป็นระเบียบและกลุ่มก้อน เพื่อให้ระดับของ Information Entropy ลดลง ซึ่งจะลดพลังงานในการประมวลผลลงไปด้วย เพราะจำนวนพิกเซลในระบบจำลอง (จักรวาล) ที่ต้องประมวลผลจะลดลงไป


ทฤษฎี "มอง" จักรวาลในรูปแบบใหม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางทฤษฎีของว็อปสันไม่ได้เป็นการสร้างทฤษฎีกฏทางธรรมชาติใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการนำปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จักรวาล และทฤษฎีที่มีอยู่เดิมมาพิจารณาในรูปแบบใหม่อย่างการมองทั้งจักรวาลเป็นเหมือนระบบจำลองของคอมพิวเตอร์ เพื่อหาคำตอบว่าแรงและพลังต่าง ๆ รวมถึงความโน้มถ่วง ที่ยังไม่เข้าใจกลไกการทำงานอย่างแท้จริงนั้นมีที่มาอย่างไร 

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเอไอพี แอดวานซ์ส (AIP Advances) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยว็อปสันหวังว่านี่จะเป็นอีกแนวทางในการไขคำตอบกลไกการทำงานของจักรวาลนอกเหนือจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) กับกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum mechanics) ที่นักฟิสิกส์ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นเพียงสมมติฐานและแนวคิดของว็อปสันเท่านั้น ซึ่งหากมีหลักฐานสนับสนุนหรือหักล้างจากนักฟิสิกส์อื่น ๆ TNN Tech จะรายงานให้ทราบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง