วัยทำงานระทม 7 ใน 10 อยู่ในภาวะหมดไฟ - เด็กซึมเศร้าเครียดอนาคต
วันนี้ ( 27 พ.ค. 67 )นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต โดยพพบว่าปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 58 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 66 เมื่อพิจารณาตามวัยแล้วต่างมีปัญหาแตกต่างกันไปซึ่งล้วนแต่น่ากังวลทั้งสิ้น
ในวัยเด็กและเยาวชน มีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้ การกลั่นแกล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
สำหรับวัยทำงาน ความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 65 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้งข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 66 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย
ขณะที่ผู้สูงวัย ต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 66 พบว่า ผู้สูงอายุ 84.93% มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้งยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย
นายดนุชา กล่าวว่า สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้
1. การป้องกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี อาทิ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก การเลี้ยงดูเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษา ต้องเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านการเรียนการสอน รวมถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง และให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่นักเรียน/ นักศึกษา สถานที่ทำงานต้องสร้างสภาพแวดล้อม ระบบการทำงานที่ดี และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และสถาบันชุมชนต้องส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพจิตในชุมชน
2. การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอ รวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ
3. การติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต
ข้อมูลจาก: สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพจาก: AFP